จันทบุรี - พบแล้วต้นตอของทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ขณะที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนจังหวัดจันทบุรีเผย ทุเรียนอ่อนส่วนใหญ่ที่พบมาจากพ่อค้าคนกลางที่เข้าไปเหมาตัดสวนทุเรียนของเกษตรกร
วันนี้ (25 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวยังเกาะติดสถานการณ์ทุเรียนอ่อนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีอย่างต่อเนื่อง และได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน คือ นางสมรักษ์ หนองบัว อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ที่ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี ในเนื้อที่กว่า 3 ไร่ มากว่า 10 ปี และได้รับข้อมูลที่น่าสนใจว่า ทุเรียนอ่อนที่พบในจังหวัดจันทบุรี และนำไปสู่การจับ และฟ้องศาลกันนั้น ต้นตอส่วนใหญ่มาจากพ่อค้าคนกลางที่เข้าไปรับเหมา และตัดทุเรียนในสวนของเกษตรกรเอง ที่พ่อค้าคนกลางจะตัดทุเรียนไม่ได้คุณภาพ หรืออายุของทุเรียนที่ยังไม่สามารถตัดได้ไปขาย
โดยเกษตรกรชาวสวนเองจะรู้ว่าต้นไหนเก็บได้ ลูกไหนเก็บได้ หรือลูกไหนมีอายุที่สมควรเก็บได้หรือไม่อย่างไร ในส่วนนี้จึงทำให้ทุเรียนอ่อน หรือทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพจึงออกสู่ตลาดและปัญหาตามมา ทั้งนี้ ในมาตรการของทั้งจังหวัด นำโดย นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี จึงได้มีมาตรการเข้ม โดยการเรียกผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการแต่งตั้งคณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจเข้าไปดูเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
โดยให้ผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่เข้าไปประชาสัมพันธ์ให้แก่เกษตรกรชาวสวน ได้รับรู้ถึงบทลงโทษที่ร้ายแรง และจะมีการเข้าไปสุ่มตรวจตามสวน หากพบว่าทุเรียนอ่อนออกมาจากสวนใด หรือพ่อค้าคนกลางคนใดมีการตัดทุเรียนอ่อนออกไปขาย ทางจังหวัดก็จะมีการดำเนินการจับ และส่งฟ้องศาลทันทีโดยไม่ละเว้น
เนื่องจาก จังหวัดจันทบุรี ได้มีการรณรงค์ และเข้มในเรื่องนี้มานานแล้ว ประกอบกับทุเรียนอ่อนถือว่าเป็นบ่อนการทำลายภาพลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรี และทำลายชื่อเสียงของจังหวัดจันทบุรี ประกอบกับยังเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังได้มีการสุ่มตรวจตามแผงขายผลไม้ทั้งตลาดหลัก และตลาดรอง รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่นำทุเรียนมาขายริมถนนด้วย หากพบก็จะจับฟ้องศาลโดยทันที
น.ส.สายทิพย์ สุขสวัสดิ์ อายุ 40 ปี นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานของดีเมืองจันท์ วันผลไม้ สีสันตะวันออก และเลือกซื้อทุเรียน กล่าวว่า ตนจะเลือกซื้อโดยการสังเกตเปลือกทุเรียน ปิงของผลทุเรียน และสีของทุเรียนเป็นหลัก หากไม่มั่นใจก็จะให้พ่อค้าแม่ค้าแกะผลทุเรียนให้ดู เพื่อที่จะไม่เจอทุเรียนอ่อน ซึ่งเท่าที่มาซื้อทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี หลายครั้งก็ยังไม่พบทุเรียนอ่อน เพราะตนจะเลือกซื้อทุเรียนจากเกษตรกรกรชาวสวนที่เอาทุเรียนมาขายโดยตรง โดยจะไม่ไปซื้อทุเรียนตามริมทางเพราะกลัวว่าจะเจอทุเรียนอ่อน
อีกส่วนหนึ่งตนมั่นใจต่อมาตรการของจังหวัดจันทบุรี ที่ทำดีอยู่แล้วในการป้องปราม และปราบปรามกับพ่อค้าแม่ค้าที่นำทุเรียนอ่อนมาขายให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว เพราะการที่พ่อค้าแม่ค้านำทุเรียนมาขายให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวเป็นการทำลายภาพลักษณ์ชื่อเสียงจังหวัดแล้ว ยังส่งผลกระทบระยะยาวที่ประชาชน และนักท่องเที่ยวจะไม่มาซื้อทุเรียนของจังหวัดจันทบุรีอีก เพราะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคนั้นเอง