xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จัก “น้องหนูดี” ดีกรีปริญญาตรี-ชาวนารุ่นใหม่ พลิกผืนนาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

   “น้องหนูดี” หรือ นางสาวจิตชนก  ต๊ะวิชัย  คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
เลย - อีกตัวอย่างคนรุ่นใหม่ “น้องหนูดี” ปริญญาตรีมหาวิทยาลัยดัง แต่เลือกยึดอาชีพเกษตรกรสืบมรดกกระดูกสันหลังของชาติ เผยแม้เป็นลูกชาวนาเป็นทุนเดิมก็ต้องลองผิดลองถูกนานกว่าจะประสบความสำเร็จ จนพลิกผืนนาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตามรอย “พ่อของแผ่นดิน”

“น้องหนูดี” หรือ นางสาวจิตชนก ต๊ะวิชัย อายุ 25 ปี สาวน้อยชาวเลยลูกแม่โดม บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่เลือกเส้นทางชีวิตหลังจบการศึกษาด้วยการกลับสู่บ้านเกิด ยึดอาชีพเกษตรกรเป็นชาวนา และช่วยแม่ดูแลกิจการเล็กๆ ซึ่งเป็นรีสอร์ตที่ อ.ภูเรือ จ.เลย

น้องหนูดีเล่าว่า เธอเป็นบุตรสาวคนเดียวของคุณแม่อุบล ต๊ะวิชัย อายุ 61 ปี อดีตข้าราชการครู สำหรับพ่อนั้นเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่หนูดียังเด็ก จึงอาศัยอยู่กับคุณแม่สองคน ดูแลธุรกิจช่วยแม่ คือ “ภูเรือเรือนไม้รีสอร์ท” ธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว บนที่ดินกว่า 15 ไร่ ที่ อ.ภูเรือ ภายในรีสอร์ตได้จัดสรรพื้นที่เพื่อทำนาประมาณ 8 ไร่ ที่เหลือเป็นผักสวนครัว โรงสีข้าว ยุ้งข้าว

นอกจากนี้ยังมีอาคารไม้เก่าที่เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง เรียกว่าเป็นการทำเกษตรครบวงจร เพราะนี่คือต้นทุนจากครอบครัวที่เธอได้รับมา ซึ่งก็ต้องคิดต่อว่าจะพัฒนาต่อยอดอย่างไรกับมรดกชิ้นนี้ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดมรรคผลกับครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น

น้องหนูดีเล่าว่า หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เมื่อปี 2555 ได้เลือกทำตามความฝันของเธอ คือ การกลับบ้านเกิดที่ภูเรือ สานต่องานอาชีพของแม่และครอบครัว เธอต้องการที่จะเป็น “เกษตรกร” ทำการเกษตรแบบพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่เคยเป็นเกษตรกร หรือห่างหายไปหลายปี จะกลับมาทำได้เลยในทันทีคงไม่ได้ เกษตรกรรุ่นใหม่อย่างเธอแทบไม่มีทักษะอะไรเลย ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ค่อยคิดค่อยทำ อาศัยความรู้ที่เรียนมาช่วยในการพัฒนาปรับปรุง สะสมประสบการณ์ จนปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง และสามารถนำมาถ่ายทอดสอนเยาวชนรุ่นน้องต่อไป

ทุกวันนี้เธอกับแม่และคนงานในรีสอร์ตช่วยกันทำนาภายในพื้นที่ 8 ไร่ ปลูกทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวไรซ์เบอร์รี จนได้ผลผลิตที่น่าพอใจ ผืนนาแห่งนี้ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงศูนย์การเรียนรู้ เป็นอาคารไม้เก่าที่ได้ปรับปรุงไว้ให้เป็นที่เรียนรู้วิถีชีวิตคนไทย เก็บสะสมสิ่งของเก่าๆ หาดูยาก เอาไว้ให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เช่น เครื่องโม่ข้าว ที่ทำมาจากไม้ไผ่และดินเหนียว อุปกรณ์เครื่องครัว และอุปกรณ์การจับปลาต่างๆ

น้องหนูดีบอกว่า เกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่ง่ายนัก ต้องอาศัยความอดทน พัฒนา เรียนรู้จากการลงมือทำจริง จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายคนรุ่นใหม่อย่างเธอเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้เธอภูมิใจกับการได้เป็นเกษตรกร เพราะการทำนาทำไร่นั้น หากรู้จักวางแผนการผลิต และติดตามความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้

“เป็นไปได้อยากให้ลูกหลานเกษตรกรที่พ่อแม่มีที่ดิน เมื่อเรียนจบแล้วก็กลับมาพัฒนา ช่วยเหลือครอบครัว ไม่จำเป็นต้องหางานทำงานอยู่ในเมืองใหญ่เพียงทางเลือกเดียว เพราะเกษตรกรก็เป็นอาชีพสุจริต มีเกียรติไม่ต่างจากอาชีพอื่น”


หลังจบ ป.ตรี เธอเลือกที่จะกลับบ้านเกิดช่วยมารดาทำนาและดูแลกิจการรีสอร์ท


กำลังโหลดความคิดเห็น