xs
xsm
sm
md
lg

เมืองพัทยาถกร่วมผู้ประกอบการรุกล้ำ 12 ราย พัทยาใต้แจ้งผลดำเนินคดีคำสั่งรื้อถอนอาคาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เมืองพัทยาถกร่วมผู้ประกอบการรุกล้ำ 12 ราย พัทยาใต้แจ้งผลดำเนินคดีคำสั่งรื้อถอนอาคาร พร้อมความคืบหน้าการประกาศ พ.ร.ก.เวนคืนที่ดิน 101 ราย หลังยืดเยื้อนานกว่า 17 ปี ระบุรัฐต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายหลังมีผู้ร้อง ด้านผู้ประกอบการเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ชี้ทำกินมานาน และถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจท่องเที่ยวสำคัญ

วันนี้ (12 พ.ค.) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย นายอิทธิวุฒิ ฐิติวร ผู้อำนวยการสำนักการช่างเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่กลุ่มงานกฎหมายเมืองพัทยา ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของอาคารที่ถูกระบุว่า มีการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต บริเวณโครงการวอล์กกิ้งสตรีท พัทยาใต้ จำนวน 12 ราย

ทั้งนี้ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจต่อผลการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ หลังจากที่เมืองพัทยา ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้แจ้งคำสั่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ให้มีการระงับการใช้ และให้ทำการรื้อถอนอาคารดังกล่าวภายใน 45 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา

นายรณกิจ ระบุว่า สำหรับพื้นที่อาคารในพื้นที่โครงการวอล์กกิ้งสตรีท พัทยาใต้ ที่ผ่านมานั้น ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ทำการรื้อถอนอาคาร จำนวน 101 ราย ออกจากพื้นที่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนโครงการปรับปรุง และฟื้นฟูบูรณะชายหาดเมืองพัทยาตามการศึกษาของ Jica ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2541

แต่ปรากฏว่า พื้นที่ของโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองพัทยาที่อยู่คู่กันมาเป็นเวลานาน จึงมีแนวคิดในการพัฒนาปรับปรุงเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น กระทั่งมีการกำหนดให้เป็นถนนคนเดิน หรือ Walking Street ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จากมติของ ครม.ที่มีความมติไว้นั้น ที่ผ่านมา เมืองพัทยาได้ทำหนังสือทวงถามไปยังกรมโยธาธิการ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งรับผิดชอบว่าจะดำเนินการประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเพื่อรื้อถอนอาคารทั้ง 101 รายหรือไม่ เนื่องจากพบว่าในจำนวนนี้ยังมีเจ้าของอาคารที่มีเอกสารสิทธิครอบครองอย่างถูกต้องจำนวนหนึ่ง ส่งผลให้ปัจจุบันยังคงถือเป็นกรณีที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการไปในทิศทางใด จึงได้มีการควบคุม และเฝ้าระวังกลุ่มผู้ประกอบการให้อยู่ในกรอบเดิม โดยไม่มีการอนุญาตให้มีการก่อสร้างต่อเติมใดๆ

นายรณกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการฝ่าฝืนลักลอบก่อสร้างต่อเติมอาคารในพื้นที่ 101 รายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ก่อนสั่งการผ่านมายังจังหวัดชลบุรี พร้อมมอบหมายให้เมืองพัทยา ร่วมกับสำนักงานเจ้าท่า สำนักงานที่ดิน และอำเภอบางละมุง เข้าร่วมทำการสำรวจและรวบรวมหลักฐานเพื่อส่งกลับไปยังส่วนกลางพร้อมเร่งรัดการดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด

กระทั่งจากผลการตรวจสอบในปัจจุบันพบว่า มีผู้กระทำผิดจำนวน 12 ราย เมืองพัทยา จึงมีความจำเป็นต้องออกคำสั่งให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากถือเป็นกรณีตัวอย่างที่มีการเปรียบเทียบกับปัญหาการรุกล้ำทั่วประเทศ

ปัจจุบัน คำสั่งของเมืองพัทยาได้ถือว่าดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จนมาถึงกระบวนการของการออกคำสั่งการรื้อถอนอาคาร หรือ ค.7 ซึ่งมีระยะเวลา 45 วัน หลังจากวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวตามสิทธิแล้วผู้ประกอบการทั้ง 12 ราย ก็สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งได้หากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยรวบรวมเอกสาร และเหตุผลเสนอเรื่องต่อเมืองพัทยา เพื่อส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ระดับจังหวัดชลบุรีภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้รับคำสั่ง แต่หากคณะกรรมการระดับจังหวัดเห็นชอบตามคำสั่ง ก็ยังคงสามารถยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาได้อีกวาระ โดยในช่วงระหว่างนี้ศาลอาจมีคำสั่งคุมครองอาคารจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งหากผลคำพิพากษาออกมาเช่นใดก็คงต้องดำเนินการตามนั้น

ส่วนที่ผู้ประกอบการร้องขอให้เมืองพัทยาออกหนังสือประกอบคำร้องอุทธรณ์ว่า พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ควรสงวนไว้นั้น โดยทั่วไปแล้วคงไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเมืองพัทยาอยู่ในฐานะที่เป็นโจทก์ที่ดำเนินคดีต่อเจ้าของอาคาร ดังนั้น การจะแสดงตัวในการปกป้องคงไม่ใช่หน้าที่ และถือเป็นเรื่องที่ผิดวิสัย

นายรณกิจ กล่าวอีกว่า ในส่วนของอาคาร 101 ราย ตามมติของ ครม.นั้นถือว่าเป็นคนละกรณี แต่เรื่องนี้เมืองพัทยาได้รวบรวมหลักฐานส่งกลับไปยังส่วนกลางแล้ว จากนี้จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาระดับภาครัฐว่าสมควรจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ซึ่งคงจะตอบไม่ได้

ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยกรณีคำสั่งดังกล่าวหากมีความล่าช้า และอยู่ในขั้นตอนของการอุทธรณ์คำสั่ง แต่ภาครัฐซึ่งปัจจุบันอยู่ในยุค คสช.ที่มีอำนาจในการใช้มาตรา 44 จะนำกฎหมายนี้เข้ามาแก้ไขปัญหานั้น กรณีนี้คงอยู่ในดุลพินิจของรัฐบาล แต่ส่วนตัวมองว่าคงไม่มีความจำเป็นเนื่องจากไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และรัฐก็คงใช้กฎหมายนี้ไปในเรื่องสำคัญอื่นๆ มากกว่า

ส่วนเรื่องที่มีการซักถามว่า การดำเนินการของเมืองพัทยาเป็นเพียงการป้องกันตัวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการละเลยการปฏิบัติ เนื่องจากปล่อยปละละเลยให้มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารมาเป็นเวลานานกว่า 15 ปี โดยเฉพาะกรณีของอาคาร จำนวน 12 ราย หลังปี 2543 นั้น เรื่องนี้คงต้องยอมรับความผิดพลาด แต่ข้อเท็จจริงแล้วอาคาร 101 ราย ถือเป็นกลุ่มอาคารที่มีมติ ครม.ให้รื้อถอนไปแล้ว

เมืองพัทยาจึงอาจทำได้เพียงแค่การเฝ้าระวังขณะที่การก่อสร้างอาจกระทำในยามวิกาล หรือจุดที่ปิดบังซ่อนเร้นจึงทำให้หลงหูหลงตาไปบ้าง แต่ก็ขอยืนยันว่า บ้านเมืองมีกฎหมายก็ต้องดำเนินการไปตามระเบียบเท่านั้น

มีรายงานว่า สำหรับการประชุมดังกล่าวผู้ประกอบการส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่าพื้นที่ของอาคาร 101 ราย ถือเป็นแลห่งเศรษฐกิจที่สำคัญทางการท่องเที่ยวที่อยู่คู่เมืองพัทยามานาน โดยหลังรับทราบคำสั่งก็จะดำเนินการรวบรวมหลักฐานเพื่อร้องอุทธรณ์คำสั่งของเมืองพัทยาต่อผู้เกี่ยวข้อง โดยจะมีการจัดประชุมร่วมผู้ได้รับผลกระทบอีกครั้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น