xs
xsm
sm
md
lg

“เต็งเส่ง-ทองสิง” 2 ผู้นำพม่า-ลาวเปิดสะพานข้ามโขงยิ่งใหญ่ ไร้ผู้แทนจีน-ไทยร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ประธานาธิบดีพม่า และนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ร่วมเป็นประธานเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมพรมแดนรัฐฉาน-หลวงน้ำทา แห่งแรกอย่างยิ่งใหญ่ แต่แจกการ์ดเชิญเพียง 120 คน ไร้ผู้แทนจากประเทศที่สาม โดยเฉพาะไทย-จีนร่วมพิธี

รายงานข่าวจาก จ.เชียงรายแจ้งว่า ทางการพม่า-สปป.ลาว ทำพิธีเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมพม่า-สปป.ลาว แห่งแรกร่วมกัน ณ เมืองเชียงลาบ เขตรัฐฉาน เชื่อมกับบ้านกุ่ม เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และ อ.แม่สาย ประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.)

โดยมี พล.อ.เต็งเส่ง ประธานาธิบดีพม่า และท่านทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เดินทางมาเป็นประธานร่วม ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ พร้อมนิมนต์พระเกจิชื่อดังไปร่วมประกอบพิธีทางศาสนา เช่น ครูบาแสงหล้า จากวัดพระธาตุสายเมือง ครูบาบุญชุ่ม ญานสังวโร จากวัดพระธาตุดอนเรือง เป็นต้น

ซึ่งพิธีเปิดจัดขึ้นอย่างเป็นทางการบริเวณกลางสะพาน โดยผู้นำของทั้งสองประเทศต่างจับมือแสดงถึงความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และความสำเร็จของการก่อสร้างสะพาน ก่อนเริ่มประกอบพิธีทางศาสนา และร่วมกันเปิดป้ายสะพานอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางประชาชนชาวพม่า-สปป.ลาว ที่ไปร่วมชมพิธีบริเวณถนนก่อนถึงสะพานทั้งสองฝั่งเป็นจำนวนมาก ก่อนที่คณะทั้งสองฝ่ายจะเดินทางกลับ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าพิธีดังกล่าวมีการเชิญคนร่วมงานเฉพาะฝ่ายพม่าและลาวเพียง 120 คน โดยไม่เชิญผู้แทนชาติที่สาม โดยเฉพาะประเทศจีน และไทย ซึ่งมักจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สื่อมวลชนที่ได้รับอนุญาตให้ไปทำข่าวพิธีเปิดส่วนใหญ่เป็นสื่อจากพม่า และ สปป.ลาว ส่วนคณะจากประเทศไทย ซึ่งเคยมีกำหนดจะเดินทางจาก อ.แม่สาย เพื่อไปร่วมในพิธีเปิดประสบปัญหาขัดข้อง ไม่สามารถอนุมัติให้เดินทางไปได้ทัน

สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมพม่า-สปป.ลาวแห่งแรก เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของทั้งสองประเทศตั้งแต่ปี 2554 และเริ่มก่อสร้างวันที่ 16 ก.พ. 2556 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสะพานแบบเหล็กโครงถักหรือยึด (Steel Truss) ยาว 691.6 เมตร และกว้าง 10.9 เมตร ประกอบด้วยผิวจราจร 2 ช่องทาง และมีทางเดินเท้าทั้งสองข้าง ใต้สะพานสูงทำให้เรือสินค้าแม่น้ำโขง และเรือทั่วไปสามารถแล่นผ่านได้

นอกจากตัวสะพานจะมีความโด่ดเด่นแล้ว ด่านพรมแดนที่ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งประเทศออกแบบให้มีความสวยงามด้วยศิลปะประยุกต์ และมีเสาบอกเส้นทางที่ตั้งตระหง่าน สามารถสังเกตได้โดยง่าย และมีความเป็นเอกลักษณ์ด้วย

สะพานดังกล่าวถือเป็นจุดเชื่อมเส้นทางคมนาคมในพม่าและ สปป.ลาว ที่ต่างมีเส้นทางคมนาคมที่ไทย-จีน เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะถนนอาร์สามเอ อ.เชียงของ จ.เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว-โมฮาน (จีนตอนใต้) ระยะทาง 245 กิโลเมตร กับถนนอาร์สามบี อ.แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง ระยะทาง 168 กิโลเมตร และเชียงตุง-เมืองลา จีนตอนใต้ ระยะทาง 90 กิโลเมตร












กำลังโหลดความคิดเห็น