ศูนย์ข่าวศรีราชา - จบเสียที! สิ่งรุกล้ำคลองพัทยาใต้ ตัวการทำน้ำท่วมขังเมืองพัทยา รองนายกรับบัญชาผู้ว่าฯ ลุยรื้อสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำได้ผลเด่นชัด อีกหนึ่งผลงานที่ชาวบ้านยกนิ้วให้
จากรณีที่ผ่านมา ในพื้นที่เมืองพัทยา เมื่อเกิดปัญหาพายุฝนตกลงมาอย่างหนักก็มักจะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้พี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมากต้องเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนั้นในช่วงปี 2552 จากการตรวจสอบของ นายวิชิต ชาติไพสิฐ์ อดีตผู้ว่าราชการจัง หวัดชลบุรี ระบุว่า นอกจากปัจจัยในเรื่องของน้ำทะเลหนุนแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องของการระบายน้ำที่เป็นไปด้วยความเชื่องช้า
เนื่องจากคลองพัทยาใต้ ซึ่งเป็นทางระบายน้ำหลักลงสู่ทะเลมีสภาพคับแคบ ที่สำคัญยังพบว่า มีการปลูกสร้างอาคารรุกล้ำแนวคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการติดค้างของขยะมูลฝอย และเศษตะกอนดิน ทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้สะดวก ดังนั้น เมื่อมีปริมาณน้ำฝนเป็นจำนวนมากจึงทำให้เกิดการเอ่อล้น และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน จนต้องสั่งการเร่งด่วนมายัง นายเชาวลิตร แสงอุทัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นปลัดอาวุโสอำเภอบางละมุง เพื่อให้เป็นแม่งานในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ในส่วนของอำเภอบางละมุง ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมสื่อมวลชนลงตรวจสอบสภาพแนวคลองบริเวณพัทยาใต้ โดยประสานให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่ดินทำการรังวัดแนวเขตคลองใหม่ เพื่อหาระยะ และแนวคลองที่ชัดเจน รวมทั้งตรวจสอบว่ามีการบุกรุกแนวคลองสาธารณะในช่วงพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งก็พบว่า ตลอดแนวคลอง ซึ่งมีขนาดความกว้างประมาณ 2 เมตรนั้น จะมีผู้ประกอบการภาคเอกชนหลายแห่งทำการก่อสร้างอาคาร สะพาน และสิ่งปลูกสร้างอื่นคร่อมแนวคลอง
ขณะที่บริเวณฐานของอาคารเหล่านี้ก็มีการตอกเสาซีเมนต์ หรือเสาไม้ลงไปในแนวคลอง ทำให้มีเศษวัสดุจำพวกพลาสติก และอื่นๆ รวมทั้งเศษตะกอนดินทับถมอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ในบางพื้นที่มีการถมดินบริเวณริมแนวคลองนั้น ก็มีภาคเอกชนบางส่วนบุกรุกเข้ามาปลูกที่พักอาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด
บริเวณแนวด้านปลายคลอง ที่พาดผ่านไปในช่วงกลางของสถานประกอบการโรงแรมขนาดใหญ่ มีการนำแผ่นแสลนด์มาปิดกั้นด้านบน และการก่อสร้างสะพานข้ามคลองในระยะประมาณ 200 เมตร ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการสะสมของเศษปฏิกูลจนทำให้น้ำเกิดการท่วมขัง
เจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการตรวจสอบพร้อมเจรจาร่วมกับผู้บริหารของทางโรงแรมเพื่อขอความร่วมมือในการรื้อถอน และแก้ไข โดยมีแนวคิดที่จะทำการรื้อแผงแสลนด์ด้านบนออก พร้อมรื้อถอนสะพานข้ามคลองเพื่อปรับปรุงโดยจะเพิ่มระยะความสูงให้พ้นจากแนวคลองเดิมในระยะที่ปลอดภัย
มีรายงานว่า สำหรับผลสรุปของการตรวจสอบแนวคลองนั้น พบว่า สภาพจริงของแนวคลองนั้นมีขนาดความกว้างกว่าที่เป็นอยู่ หรือเฉลี่ยประมาณ 10 กว่าเมตร และพบว่ามีสิ่งปลูกสร้างมากมายที่รุกล้ำ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า มีที่ดิน 16 แปลง ที่มีแนวของสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวคลองสาธารณะ ทั้งสถานประกอบการโรงแรมขนาดใหญ่ สถานบันเทิง อาคาร และที่พัก รวมแล้วมีพื้นที่กว่า 3 ไร่
ซึ่งที่ผ่านมา นายอำเภอบางละมุง ได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อชี้แจง และขอความร่วมมือจากเจ้าของที่ดิน และผู้เช่าเหล่านี้ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนตามระยะเวลาที่กำหนด และหากมีกรณีของที่ดินบางแปลงที่ไม่ยินยอมดำเนินการนั้น ทางอำเภอบางละมุง ก็จะใช้อำนาจในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เพราะต้องการให้กรณีดังกล่าวมีการปฏิบัติอย่างจริงจังเพราะถือเป็นปัญหาเรื้อรัง และสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก แต่ก็พบว่าขั้นตอนดังกล่าวนั้นยังไม่สมบูรณ์ 100%
ล่าสุด จากการติดตามจากใกล้ชิด และจริงจังของ นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมการเฝ้าดูและร่วมมืออย่างจริงจังจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โดยมอบหมายให้ นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ อดีตนายอำเภอบางละมุง ผนึกกำลังร่วมเมืองพัทยา ที่นำโดย ดร.วีระวัฒน์ ค้าขาย รองนายกเมืองพัทยา ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ตอบได้ว่าการแก้ไขปัญหาสิ่งรุกล้ำคลองสาธารณะพัทยาใต้ ใกล้ถึงบทอวสานลงอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
งานนี้ ดร.วีรวัฒน์ เผยว่า ได้เริ่มดำเนินการในการแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำคลองพัทยาใต้มาตั้งแต่ปี 2552 สมัยรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เชาวลิตร แสงอุทัย เป็นปลัดอาวุโส ได้มีการจัดทำรางวัดแนวเขตคลองพัทยาใต้ เพื่อให้ทราบขนาดของคลอง และได้ดำเนินการเรื่อยมา และก็เงียบหายไปพักหนึ่ง จนกระทั่งเมษายน-พฤษภาคมปีที่ผ่านมา ก็ได้รับมอบหมายจากนายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ให้เข้ามากำกับดูแลสำนักการช่างสุขภิบาลเมืองพัทยา และที่ผ่านมา เมืองพัทยา ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขัง สร้างความเดือนร้อนให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จึงได้มีการทบทวนสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมขังที่ผ่านมาๆ ทราบว่า น้ำจากโซนพัทยาเหนือ พัทยากลาง พัทยาใต้ และบนเขาบางส่วน จะไหลมารวมกัน และไหลลงคลองพัทยาใต้ แต่ที่ผ่านมา น้ำที่ไหลลงคลองพัทยาใต้ ขณะที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง แต่น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้อย่างสะดวก
จึงได้ร่วมกับอำเภอบางละมุง สมัยนายอำเภอ นายศักดิ์ชัย แต่งฮ่อ ลงตรวจสอบสภาพปัญหาและสาเหตุที่ทำให้การระบายของน้ำที่ไหลลงไม่สะดวกว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งจากการลงตรวจสอบบริเวณคลองพัทยาใต้ พบว่า มีการปลูกสร้างอาคารรุกล้ำแนวเขตคลองในขณะนั้น จำนวน 16 ราย จึงได้มีการพูดคุยกับชาวบ้าน และผู้ประกอบการที่ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำคลอง ทำให้บ้างรายก็ยินยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอออกจากคลอง แต่ก็ยังมีประมาณ 4-5 ราย ที่ไม่ยอมรื้อถอน
ทำให้เมืองพัทยา ออกคำสั่ง ทั้ง ค.3 ค.5 ค.9 แต่ไม่เคยออกคำสั่ง ค.7 และ ค.15 เพิ่งมามีในยุคนี้ที่มีการออกคำสั่ง ค.7 ก็คือ สิ่งปลูกสร้างอะไรก็ตามที่มีการดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่สาธารณะสามารถออก ค.7 ได้เลย พร้อมประเมินราคาค่ารื้อถอน และสามารถรื้อถอนได้ทันที โดยไม่ต้อง ออก ค.3 และ ค.อื่นๆ
ดร.วีระวัฒน์ เผยอีกว่า จากวันนั้นถึงวันนี้การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล่ำคลองพัทยาใต้ทั้ง 16 ราย ได้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกหมดแล้ว 15 ราย เหลือเพียง 1 ราย ซึ่งเป็นรายใหญ่ พื้นที่ประมาน 3 งาน โดยในส่วนของ 15 ราย ที่ดำเนินการรื้อถอนไปแล้วเมืองพัทยาจะได้พื้นที่สาธารณะคลองพัทยาใต้คืนเกือบ 4 ไร่ สนนราคาตกไร่ละประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งถือว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกมหาศาล
ขณะที่ในส่วนของอาคารรุกล้ำนั้นที่ผ่านมา ทำการรื้อถอนไปแล้วกว่า 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% ปัจจุบันเมืองพัทยา ก็ได้ปิดหมายประกาศแจ้งให้ทำการรื้อถอนไปแล้ว เหลือเพียงการรอเวลาและขั้นตอนทางกฎหมายบางประการก็จะสามารถบังคับใช้ และคืนพื้นที่สาธารณะได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับในส่วนของการกันแนวเขต และการขยายแนวคลองสาธารณะนั้นปัจจุบันก็ถือว่ามีความคืบหน้าเช่นกัน โดยขณะนี้ถือว่าดำเนินการไปแล้วประมาณ 70% ยังเหลือเพียงการปรับสภาพพื้นที่บางส่วนก็จะถือว่าแนวคลองมีความสมบูรณ์ ทั้งเรื่องของแนวเขต และสิ่งกีดขวางทางน้ำ
“หลังทำการแก้ไขปัญหา และปรับปรุงแนวคลองเสร็จเรียบร้อยแล้ว พบว่าพื้นที่ตลอดสองฝั่งคลองจะมีที่สาธารณะเหลืออยู่เป็นจำนวนมากที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ จึงมีแนวคิดที่จะทำการออกแบบบ่อพักน้ำ และท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ตลอดแนวคลองเพื่อทำการแยกน้ำเสียจากที่พักอาศัย สถานประกอบการออกจากน้ำฝนที่ไหลผ่านคลองโดยตรง ซึ่งจะสามารถป้องกันน้ำเสียไหลบ่าลงสู่ทะเล และให้ไหลเข้าสู่ระบบบำบัดได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังจะมีการออกแบบปรับสภาพภูมิทัศน์ พร้อมจัดทำจุดสันทนาการเพื่อให้เกิดความสวยงาม และให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการออกกำลังกาย และจุดพักผ่อน ซึ่งเบื้องต้น ได้ตั้งงบประมาณการดำเนินการไว้ประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งคงจะมีผลเป็นรูปธรรมในเร็ววันนี้”
จากการทำงานโดยเอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนับทศวรรษ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นแล้วว่า การดำเนินการในการลงเนื้องานที่ค่อนข้างหิน จะเป็นดัชนีตัดสินถึงความพึงพอใจในเหตุสรุปของงานจากสังคม และประชาชน จนชาวบ้านต่างยกมือให้ในผลงานระดับมาสเตอร์พีซชิ้นนี้ เพราะปัจจุบันกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์กคอยรายงานความคืบหน้าของงานนั้นๆ อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ชาวเน็ตจึงรู้ถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้โดยง่ายดาย