สกลนคร - ชาวบ้านโนนพอก จัดพิธีเลี้ยงผีหมอประจำปี ประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาแต่สมัยบรรพบุรุษ เผยผู้เข้าร่วมพิธีส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยเจ็บไข้มาก่อน รักษาแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย แต่รอดตายเพราะพึ่งไสยศาสตร์
วันนี้ (24 เม.ย.) ชาวบ้านโนนพอก ต.เชิงชุม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร นำโดยคุณยายเหวย อุสาพรหม และคุณยายเจ๊ก จิตอาคะ จัดพิธีเลี้ยงผีหมอประจำปี 2558 มีคณะลูกเลี้ยงทั้งที่เป็นชาวบ้านโนนพอกโดยตรง และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 200 คนร่วมในพิธี
“พิธีเลี้ยงผีหมอ” เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สำคัญของชาวบ้านในแถบภาคอีสานตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านบางส่วนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร แต่ก็เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่มีความเชื่อในเรื่องพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ การนับถือผี การรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยการเหยา
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เข้ามาร่วมในพิธีเลี้ยงผีนี้เคยเป็นผู้ที่มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยมาก่อน ที่ได้ไปรักษาตามคลินิก ตามโรงพยาบาล หรือรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์สมัยใหม่แล้วไม่หาย หลายรายหมดหนทางในการรักษา หลายรายถึงกับเสียชีวิต ขณะที่บางรายไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่แบบทรมาน ร่างกายซูบผอม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมักเชื่อว่าสาเหตุมาจากอำนาจลี้ลับของภูตผีปีศาจ และต้องรักษาด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์เท่านั้น
ซึ่งเรียกว่าการเหยา เป็นการทำพิธีติดต่อสื่อสารกับผี โดยมีแม่ครูมาจัดทำพิธีตั้งเครื่องคาย มีการนำดอกไม้และธูปเทียนมาแต่งเป็นขัน 5 มีเหล้า ยา และสิ่งอื่นๆ ที่ผีชอบแล้วสื่อสารกับผีในรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งต่อรองด้วยวิธีการต่างๆ นานา
แต่สุดท้ายมักจะลงเอยด้วยการรับเอาผีมาอยู่ด้วย ซึ่งมีเหตุผลมาจากผีรักผีชอบ อยากอยู่อยากกินด้วย อาจจะเป็นผีไร่ ผีนา ผีเชื้อ ผีบรรพบุรุษ เมื่อผีได้อยู่ได้กินอย่างอิ่มหนำสำราญจนพอใจแล้ว อาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะหายไปอย่างน่าอัศจรรย์
และที่สำคัญในแต่ละรอบปี ชาวบ้านที่เคยป่วยมาก่อนและนับถือผีเหล่านี้ก็จะจัดพิธีเลี้ยงผีประจำปีเพื่อให้ผีได้ม่วนซื่น สนุกสนาน ได้กินได้อิ่ม นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงถึงความเคารพนับถือด้วย บางรายถูกผีเข้าประทับร่างแล้วแสดงอาการต่างๆ ออกมาแบบไม่รู้สึกตัว ซึ่งการเลี้ยงผีนี้มีความเชื่อว่าหากใครไม่เข้าร่วมพิธีด้วยก็จะมีการเจ็บป่วยตามมาอีกมากมายหลายอย่าง
เพราะฉะนั้นพิธีเลี้ยงผีหมอจึงถือเป็นพิธีที่สำคัญยิ่ง ที่สืบทอดมาแต่สมัยบรรพบุรุษมานานกว่าร้อยปีของคนในท้องถิ่นแถบนี้