xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสามง่ามจัดประเพณียกธงบอกลาวันสงกรานต์ เตรียมเข้าสู่โหมดทำมาหากิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ชาวอำเภอสามง่ามสืบสานประเพณี ยกธงขาวบอกเลิกสงกรานต์ปี 2558 เตรียมตัวทำมาหากินตามปกติ

วันนี้ (20 เม.ย.) นายนพรัตน์ ตั้งกิตติถาวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นประธานในพิธียกธงบอกเลิกงานสงกรานต์ของชาวบ้านหนองโสน ต.หนองโสน อ.สามง่าม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยอีสานที่อพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินด้วยการเป็นชาวไร่อ้อย ชาวนา จึงได้นำประเพณีดังกล่าวนี้มาสืบทอดให้อนุชนรุ่นหลังได้เข้าถึง และเข้าใจถึงประเพณีอันดีงาม ที่มีวัตถุประสงค์ต้องการสร้างความสามัคคี และได้ทำบุญหาเงินเข้าวัด โดยมีประชาชนมาร่วมงานเกือบ 3,000 คน

รูปแบบของประเพณียกธงบอกเลิกสงกรานต์นี้จะเริ่มหลังจากเล่นสงกรานต์กันมาตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ทุกคนก็จะสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ รวมถึงหยุดภารกิจในการทำงานต่างๆ ดังนั้นเมื่อสนุกสนานครบ 7 วันแล้ว เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่า เราสนุกสนานกันมาหลายวันแล้ว จึงควรบอกเลิกงานสงกรานต์เพื่อจะได้ก้าวเข้าสู่การทำมาหากินในอาชีพการงาน โดยขอให้วันนี้เป็นการสนุกสนานในวันสุดท้าย จึงได้มีประเพณีที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการยกธงบอกเลิกสงกรานต์ดังกล่าว

ประเพณีนี้ นายสุวิทย์ เดชครุฑ นายอำเภอสามง่าม และนายพิษณุ เหลืองวิจิตร ส.อบจ.เขต อ.สามง่าม ได้เล่าว่า เป็นการทำสืบต่อกันมามากกว่า 30 ปีแล้ว โดยชาวบ้าน ต.หนองโสน ไม่ว่าจะไปทำมาหากินอยู่ที่ใด พอถึงวันนี้ก็ถือเป็นงานบุญครั้งสำคัญ ต่างคนต่างจะรวบรวมญาติพี่น้องตั้งเป็นกองผ้าป่า แล้วหาเสื่อหรือหาผ้าสีที่สวยสดงดงามที่มีความยาวเกือบ 10 เมตรมาทำเป็นธงประดับด้วยเครื่องอัฐบริขาร หรือของที่ต้องการจะถวายพระ พร้อมติดดอกไม้หรือเครื่องประดับให้สวยงาม

จากนั้นก็จะแห่แหนไปรอบหมู่บ้าน มีการร้อง เล่น เต้นรำอย่างสนุกสนาน เมื่อนำธงเข้าสู่วัดก็จะนำไปผูกมัดกับลำไม้ไผ่ ถ้าของใครยิ่งสูงก็จะยิ่งเป็นมงคล ดังนั้นทุกคนทุกหมู่บ้านจึงต่างทำธงมาประกวดประขันกัน โดยทำธงให้ใหญ่ ให้ยาว และต้องให้สูงกว่าหมู่บ้านอื่น เพื่อจะได้เจริญรุ่งเรืองเหมือนกับยอดธงที่จัดทำขึ้น

ส่วนธงของประธานในพิธีปีนี้ชาวบ้านหนองโสนต่างใช้ผ้าผืนใหญ่กว่าคนอื่น และในปีนี้มีการนำผ้าสีม่วงซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาต่อกันเป็นความยาวถึง 60 เมตร ซึ่งตรงกับพระชนมายุของพระองค์ และบ่งบอกถึงความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน

จากนั้นเมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคล นายนพรัตน์ และผู้นำชุมชน ร่วมกันชักธงขึ้นสู่ยอดเสาท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องแสดงความสนุกสนาน และเป็นการประกาศบอกเลิกประเพณีงานสงกรานต์เพื่อก้าวเข้าสู่ฤดูการทำมาหากิน และจะได้สนุกสนานกันแบบนี้อีกครั้งในประเพณีสงกรานต์ปีหน้า ซึ่งถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ที่มีประเพณีดังกล่าว ในส่วนบรรยากาศของการทำบุญในปีนี้ ถึงแม้หลายคนจะบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่เมื่อถึงเวลางานบุญต่างร่วมใจนำเงินติดกองผ้าป่ามาถวายพระกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งบ่งบอกได้ว่าวัดและพระพุทธศาสนายังคงเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านในชนบทมิได้เสื่อมถอยแต่อย่างใด





กำลังโหลดความคิดเห็น