xs
xsm
sm
md
lg

“ดาว์พงษ์” ลงพื้นที่ดูสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ ตรวจสัตว์ป่าของกลาง และก่อสร้างคลินิกสัตว์ป่า(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ลงดูสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ เพื่อตรวจสัตว์ป่าของกลางและก่อสร้างคลินิกสัตว์ป่า
ศูนย์ข่าวศรีราชา - “ดาว์พงษ์” นำทีมลงพื้นที่ดูสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ เพื่อตรวจสัตว์ป่าของกลาง และก่อสร้างคลีนิกสัตว์ป่า หวังให้มีประสิทธิภาพรองรับสัตว์ป่าของกลางมากขึ้น



วันนี้ (9 เม.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมีข้าราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และบรรยายสรุป

นายทรงกลด ภู่ทอง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ กล่าวว่า สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระแห่งนี้ เป็นสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ซึ่งต่อมากลายเป็นสถานที่ดูแลสัตว์ป่าของกลาง ที่เป็นชนิดพันธุ์ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เจ้าหน้าที่จับกุมสัตว์ดังกล่าวจากผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงอย่างผิดกฎหมาย เมื่อจับกุมได้ก็จะนำสัตว์เหล่านั้นซึ่งเป็นของกลางมาเก็บรักษา หรือดูแลยังสถานที่แห่งนี้

สำหรับสัตว์ป่าของกลางนั้น ส่วนใหญ่เป็นสัตว์จากต่างประเทศ ที่เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์หรือความรู้ในการดูแลแต่ก็ต้องศึกษาเรียนรู้ไป และขาดผู้เชี่ยวชาญในการดูแลสัตว์ดังกล่าว นอกจากนั้น ในเรื่องงบประมาณดูแลมีไม่เพียงพอใน ทั้งการจัดหาอาหาร เวชภัณฑ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการดูแล และฟืนฟูสุขภาพสัตว์ป่าเหล่านี้

นายทรงกลด กล่าวว่า ปัจจุบันการลักลอบล่า และค้าสัตว์ป่ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากสถิติการจับกุมยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการจับกุมผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ นำมาซึ่งการตรวจยึดสัตว์ป่าของกลางจำนวนมหาศาล เช่น เต่าดาวเทียม เต่ามาดาร์กัสกา เป็นต้น

ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้เพื่อมาดูสัตว์ป่าของกลาง ซึ่งขณะนี้เป็นภาระมาก เนื่องจากสัตว์ป่าของกลางไม่สามารถควบคุมจำนวน และชนิดไม่ได้ ดังนั้น การจะดูแลนั้นต้องมีสถานที่ที่เหมาะสม ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในสัตว์ชนิดนั้น ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญมากในขณะนี้ โดยจะต้องวางแนวทางในการแก้ไขระยะสั้น และระยะยาวต่อไป

แต่ขณะนี้มีหน่วยงาน และองค์กรภายนอกได้เข้ามาช่วยเหลือ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 57 กลุ่มเอ็นจีโอ เข้ามาช่วยสร้างโรงพยาบาลให้ ก่อสร้างกรงนกให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และดูแลรักษาสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ นอกจากนั้น ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. และ อบจ.ในพื้นที่ก็ให้ความช่วยเหลือ แต่ยังไม่เพียงพอ ทางกระทรวง และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องวางแผนแก้ไขในระยะยาว เช่น ด้านงบประมาณจะต้องจัดสรรเข้ามาให้เพียงพอ และบุคลากรสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านประจำในที่แห่งนี้

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า ที่สำคัญจะต้องมีการตัดวงจรการค้าสัตว์ป่าให้หมดสิ้นไป โดยเรื่องนี้จะต้องประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อหาต้นตอต่อไป
ดูสัตว์ป่าของกลาง
ดูสัตว์ป่าของกลาง ตัวนาก
สถานที่ก่อสร้างคลีนิกสัตว์ป่า
กำลังโหลดความคิดเห็น