ลำปาง - ชาวบ้านแม่มอก อำเภอเถินช่วยกันบริจาคอุปกรณ์ทำรั้วสร้างแนวกั้นไม่ให้ “หมูเจ้าพ่อ” วิ่งลงไปในถนน ประกอบกับกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำการจับหมูไปปล่อยท้ายอุทยานแห่งชาติแม่วะ ระบุหมูเหล่านี้อยู่คู่ศาลเจ้าพ่อผีปันน้ำมานานมากแล้วจนออกลูกออกหลานเกือบ 200 ตัว
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปางแจ้งว่า วันนี้ (8 เม.ย.) ชาวบ้านในพื้นที่บ้านกุ่มเนิ้ง และใกล้เคียงต่างพากันนำอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือไปช่วยกันทำรั้วโดยรอบ “ศาลเจ้าพ่อผีปันน้ำ” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเส้นทางสาย อ.เถิน จ.ลำปาง-อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ม.3 บ้านกุ่มเนิ้ง ต.แม่มอก อ.เถิน เพื่อป้องกันไม่ให้หมูป่าหรือหมูดอย หรือที่ทุกคนรู้จักและเรียกว่า “หมูเจ้าพ่อ” วิ่งลงมาบนถนนได้ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับหมูและประชาชนที่สัญจรไปมา เนื่องจากถนนบริเวณดังกล่าวเป็นทางลงเขาและคดเคี้ยว
ทั้งนี้ ชาวบ้านได้เล่าว่า สาเหตุที่ต้องเร่งระดมจิตอาสาเข้ามาทำรั้วกั้นบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากทราบข่าวว่าทางอำเภอเถินจะให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาย้ายหมูทั้งหมดไปไว้ในป่าท้ายอุทยานแห่งชาติแม่วะ โดยจะให้ทำการวางยาสลบก่อนจะนำตัวหมูทั้งหมดออกไป โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่ใช้เส้นทางเพราะหมูจะวิ่งลงมายังถนน แม้ชาวบ้านจะคัดค้านแต่ก็ไม่เป็นผล
ดังนั้นจึงต้องระดมชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธาในศาลเจ้าพ่อผีปันน้ำมาช่วยกันทำรั้วเพื่อไม่ให้หมูวิ่งลงมาได้ และก็จะไม่เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นข้ออ้างในการนำหมูออกไปปล่อยในป่าได้ ซึ่งทุกคนต่างบริจาคสิ่งของอุปกรณ์ตามจิตศรัทธาและมาร่วมกันทำเพื่อให้เสร็จก่อนปีใหม่เมืองที่จะถึงนี้
สำหรับที่มาของ “หมูเจ้าพ่อ” ผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณ 200 ปีก่อนได้มีแม่ทัพทหารชื่อขุนเหล็ก นำกองทัพเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งหน้าจะไปจังหวัดสุโขทัย แต่ระหว่างทางน้ำที่นำติดตัวมาด้วยหมด ขณะที่ทุกคนก็รู้สึกหิวน้ำ และตลอดทางก็ไม่มีแหล่งน้ำเลย จึงได้ให้ทหารหยุดพักที่ดอยปั๋นน้ำ (จุดที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อผีปันน้ำปัจจุบัน) ซึ่งเป็นดอยกั้นระหว่างตำบลแม่ปะ กับ ต.แม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง (คำว่า ปั๋น แปลว่า แบ่งปัน)
เมื่อกองทัพมาหยุดพักบนดอยแห่งนี้ แม่ทัพขุนเหล็กจึงได้ใช้ดาบเชือดแขนตัวเอง เพื่อนำเลือดมาดื่มแทนน้ำเพื่อจะได้นำทหารเดินทัพต่อไปได้ แต่ทว่าเลือดที่ไหลออกมามากจนในที่สุดแม่ทัพขุนเหล็กก็ต้องเสียชีวิตลง ณ ที่แห่งนี้ หลังจากนั้นไม่นานก็พบว่าบริเวณดอยแห่งนี้จะมีน้ำไหลลงมาจนกลายเป็นลำห้วย หล่อเลี้ยงชาวบ้านในพื้นที่แถบนี้มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ยังได้เล่าอีกว่า ที่ผ่านมาผู้ที่เดินทางผ่านบริเวณดังกล่าวมักจะเห็นปาฏิหาริย์หลายอย่าง บางคนที่มีปัญหามาบนบานขอให้เจ้าพ่อช่วยก็มักจะสำเร็จ ขณะที่ชาวบ้านบางคนยังเล่าด้วยว่า ศาลเจ้าพ่อผีปันน้ำเคยแสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นหลายครั้ง ล่าสุดทางหน่วยราชการ ผู้นำชุมชน ตำรวจ เข้าจับกุมแกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ที่ออกมาเปิดโปงขบวนการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าถูกหน่วยงานรัฐกลั่นแกล้ง และไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้ไปบนบานศาลกล่าวขอให้เจ้าพ่อผีปันน้ำช่วยเหลือชาวบ้านผู้บริสุทธิ์
หลังจากนั้นไม่นานก็ปรากฏว่าผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมชาวบ้านได้เสียชีวิตไปหลายคน ทั้งจากเกิดอุบัติเหตุ และโรคที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนชาวบ้านทุกคนที่ถูกตั้งข้อหาก็หลุดคดีทั้งหมด จึงทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธามากยิ่งขึ้น จึงได้นำสิ่งของ ธูปเทียน ดอกไม้ และข้าวปลาอาหารมาถวาย กราบไหว้สักการะ ซึ่งของที่นำมาถวายก็รวมถึงไก่มีชีวิต และหมูดอยมีชีวิต หลังจากนั้นหมูดอยก็ออกลูกออกหลานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และเคยมีคนจะมานำหมูของเจ้าพ่อไปกินก็มีอันเป็นไปหลายราย
หลังจากนั้นจึงไม่มีใครกล้าที่จะมาขโมยหมูเจ้าพ่อหรือสัตว์อื่นที่นำมาถวายไปกิน เพราะเกรงกลัวกับสิ่งที่มองไม่เห็น จนทำให้ในวันนี้หมูเจ้าพ่อมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 200 ตัว แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปดูแลมีเพียงชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงและผู้ที่นับถือศรัทธาได้แวะเวียนนำอาหารไปให้และช่วยกันออกแรงกายบ้าง กำลังทรัพย์บ้างไปช่วยปรับปรุงพื้นที่และดูแลหมูเท่านั้น แม้แต่ป้ายบอกให้ระวังหมูเจ้าพ่อที่ติดตามข้างทางเพื่อบอกให้ผู้ที่สัญจรให้ระมัดระวังและลดความเร็ว ชาวบ้านก็เป็นผู้จัดทำขึ้นเอง