xs
xsm
sm
md
lg

“ปอยส่างลองเชียงใหม่” คึกคัก นักท่องเที่ยวถ่ายรูป-เต้นร่วมขบวนตรึม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - ชาวไทยใหญ่ในเชียงใหม่ร่วมแห่ขบวนปอยส่างลอง ขอพรจากอนุสาวรีย์อดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ครูบาเจ้าศรีวิชัยตนบุญล้านนา และพระสงฆ์วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ท่ามกลางนักท่องเที่ยวแห่ชม ถ่ายภาพ พร้อมทั้งร่วมเต้นรำคึกคัก


เย็นวันนี้ (4 เม.ย.) ชาวไทยใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ต่างพร้อมใจกันนำบุตรหลานเข้าร่วมขบวนแห่ปอยส่างลอง หรือบวชลูกแก้ว โดยนำส่างลองกว่า 7 รูปเข้ากราบขอพรพระสงฆ์ ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่ จากนั้นตั้งขบวนแห่ส่างลองไปขอพรที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และลานอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ก่อนมุ่งหน้าไปทำพิธีต่อที่วัดป่าเป้า

ซึ่งปอยส่างลอง ตามประเพณีชาวไทยใหญ่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 เม.ย. 57 และถูกบันทึกไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีนักท่องเที่ยวที่สนใจมาร่วมชมประเพณีดังกล่าวอย่างคึกคัก บางรายก็ไปถ่ายภาพและร่วมเต้นรำไปกับขบวนด้วย โดยวันแรกมีพิธีแห่ปอยส่างลองที่วัด จากนั้นจะตั้งขบวนแห่มากราบขอพรจากอนุสาวรีย์อดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ครูบาเจ้าศรีวิชัยตนบุญล้านนา และขอพรพระที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพื่อความเป็นสิริมงคล

จากนั้นในวันพรุ่งนี้ (5 เม.ย. 58) จะมีพิธีแห่ออกจากวัดป่าเป้าในช่วงเช้า วนไปตามถนน และเลี้ยวมาคูเมืองด้านในหน้าตลาดสมเพชร ก่อนกลับเข้าวัดป่าเป้า และทำพิธีบรรพชาในวันถัดไปอีกครั้ง (6 เม.ย. 58)

ทั้งนี้ ประเพณีปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้ว เพื่อบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาจะพบว่ามีการจัดกันมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และอำเภอปาย คนที่เข้าร่วมประเพณีนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากไทยใหญ่ ซึ่งร่วมกันสืบทอดงานประเพณีนี้มาเป็นเวลาช้านาน ดังปรากฏหลักฐานว่าประเพณีนี้มีมาตั้งแต่มีการสร้างแปงเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งก็ได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี เนื่องจากเป็นประเพณีสำคัญทางศาสนา และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด

จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดความขัดแย้งในวงกว้าง ครอบคลุมทุกทวีป และประเทศส่วนใหญ่ในโลก รวมทั้งในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) จนกระทั่งสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ในระหว่างนั้นประเทศไทยได้ประสบปัญหาทางด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ประเพณีปอยส่างลองถูกงด และเลิกไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 อันเป็นปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ก็ได้มีการฟื้นฟู และจัดงานประเพณีปอยส่างลองขึ้นอีกครั้ง และจัดต่อเนื่องทุกๆ ปีจนถึงปัจจุบัน และหลังจากนั้นประเพณีนี้ก็ได้ขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น