xs
xsm
sm
md
lg

บ้านเชียงจัดงานอนุรักษ์มรดกไทย เปิดนิทรรศการโบราณวัตถุที่ได้คืนจากอเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - เทศบาลตำบลบ้านเชียง ร่วมกับสภาวัฒนธรรม จัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเปิดนิทรรศการโบราณวัตถุที่ได้คืนจากอเมริกา

วันนี้ (2 เม.ย.) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี นายอดุล จันทนะปุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมการรณรงค์การดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรม พร้อมเปิดนิทรรศการมรดกศิลป์คืนถิ่นมาตุภูมิ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทยประจำปี 2558 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก

สำหรับกิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทยประจำปี 2558 ในช่วงเช้าได้มีการประกอบพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศลฯ การประกอบพิธีถวายสักการะเบื้องพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถวายพระพรชัยมงคล และเปิดนิทรรศการพิเศษ มรดกศิลป์คืนถิ่นมาตุภูมิ

นางสาวสิรินทร์ ย้วนใจดี หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง เปิดเผยว่า นิทรรศการมรดกศิลป์คืนถิ่นมาตุภูมินี้เป็นการแสดงโบราณวัตถุ ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกระทรวงวัฒนธรรมได้รับคืนโบราณวัตถุของไทยจำนวน 554 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์ bowers มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งโบราณวัตถุดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องปั้นดินเผา 222 รายการ เครื่องประดับสำริด 197 รายการ เครื่องมือเครื่องใช้สำริด 79 รายการ ลูกปัดทำด้วยวัสดุต่างๆ 355 รายการ เครื่องมือหินและขวานหิน 11 รายการและแม่พิมพ์หินทราย 10 รายการ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557

สำหรับโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษครั้งนี้มีทั้งสิ้น 227 ชิ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรมศิลปากร โดยจะจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี แห่งนี้เรื่อยไป

นางสาวสิรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมศิลปากรโดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพโบราณวัตถุ พบว่าภาชนะดินเผาส่วนใหญ่ชำรุดแต่ต่อไว้เครื่องมือเครื่องใช้โลหะประเภทสำริดยังไม่ได้รับการอนุรักษ์มีคราบดินและสนิมกัดกร่อน หลายชิ้นชำรุดแยกออกจากกันจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมสงวนรักษา และจากการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าน่าจะเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียงประมาณร้อยละ 60-70 จากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางประมาณร้อยละ 25-30 และโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ประมาณร้อยละ 5-10

โบราณวัตถุเหล่านี้แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ทราบแหล่งที่พบแน่นอนแท้จริงแต่ก็สามารถศึกษารูปแบบศิลปะเทคนิควิธีการทำเนื้อวัตถุส่วนผสมรวมทั้งกำหนดอายุสมัยได้ จึงยังคงมีคุณค่าและประโยชน์ทางวิชาการ

นายสมคิด ผการัตน์ อายุ 68 ปี ชาวตำบลบ้านเชียง เปิดเผยว่า ตนรู้สึกมีความยินดีที่ได้โบราณวัตถุกลับคืนมา ซึ่งโบราณวัตถุเหล่านี้ได้หายสาบสูญไปนานมากและมีจำนวนมากที่ยังไม่ได้คืนไม่รู้ว่าอยู่ที่ใด โดยโบราณวัตถุเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากทางด้านจิตใจและคุณค่า





กำลังโหลดความคิดเห็น