เชียงราย - เกษตรกรชาวสวนลำไยเมืองพ่อขุนฯ ผวาถูกพ่อค้ากดราคา-รัฐช่วยเหลือไม่ทัน รวมตัวจี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเตรียมพร้อมแก้ปัญหาราคาลำไยตกต่ำจนต้องจัดม็อบกันทุกปี วอนเร่งพัฒนากระบวนการผลิต-แปรรูปอย่างยั่งยืน เพิ่มอำนาจต่อรองให้ชาวสวน หลังทุนจีน 27 รายรุกหนัก
นายชัยธวัช สิทธิสม ประธานเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดเชียงราย, นายเรืองเดช ปฏิภัทรตระกุล ประธานวิสาหกิจมหาพืชผล 12 สาขาภาคเหนือ, นายกฤษณะ คำปุก ประธานกลุ่มผู้ปลูกลำไยพื้นที่ จ.เชียงราย ได้นำตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรประมาณ 80 คนเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อเสนอขอความร่วมมือและช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยตกต่ำและพัฒนาการแปรรูปผลผลิตตั้งแต่ฤดูกาล 2558 นี้เป็นต้นไป ซึ่งทางจังหวัดมอบหมายให้นายสุเทพ ทิพย์รัตน์ เกษตรกรจังหวัดเชียงราย นำตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมหารือ
กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้แจ้งข้อเสนอว่า ต้องการให้มีการพัฒนากระบวนการผลิตลำไยทั้งระบบ ตั้งแต่เรื่องที่ดิน น้ำ ไฟฟ้า การแปรรูป ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จนทำให้เกิดปัญหาการชุมนุมทุกฤดูเก็บเกี่ยวช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.
นายเรืองเดชกล่าวว่า ชาวสวนลำไยภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ฯลฯ ไม่เคยเกิดปัญหาม็อบ เพราะทำลำไยคุณภาพ และปลูกนอกฤดู แต่ชาวสวนพื้นที่เชียงราย-พะเยา ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มได้ประมาณ 18-19 กลุ่ม มีจำนวนชาวสวนประมาณ 1,000 ราย กลับต้องออกมาชุมนุมทุกปี เพราะพ่อค้าร่วมกันกดราคาลำไยสด และเมื่อถึงช่วงปลายฤดูหากไม่ขายผลผลิตก็เน่าจึงจำใจขาย หรือจัดม็อบเพื่อให้รัฐแทรกแซงราคา
“ตอนนี้มีเอกชนจีนกว่า 27 บริษัทเข้ามาติดต่อกับเครือข่ายเพื่อสอบถามเรื่องการรับซื้อผลผลิตฤดูกาลนี้กันแล้ว และมีอยู่ 1 รายที่มีเครือข่ายในจีนกว่า 10 บริษัท ถึงขั้นเตรียมทำจุดรับซื้อตรงที่ อ.ป่าแดด โดยเช่าที่เอาไว้กว่า 500-600 ไร่ ซึ่งพ่อค้าจีนกลุ่มนี้ระบุว่าหากจะให้ลำไยเชียงรายได้ราคาดีเหมือนที่ จ.จันทบุรี อาจต้องใช้เวลาพัฒนาอย่างน้อย 3 ปี”
นายชัยธวัชกล่าวว่า งบประมาณรัฐ โดยเฉพาะงบประมาณยุทธศาสตร์จังหวัดที่นำไปช่วยเหลือเกษตรกรตอนเกิดปัญหาราคาตกต่ำทุกปีเป็นการช่วยเหลือพ่อค้าคนกลางมากกว่า กลุ่มเกษตรกรได้ไม่ถึง 80% มาตรฐานของแต่ละจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน อย่างพะเยา เกษตรกรรับค่าชดเชยเมื่อปี 2557 กิโลกรัมละ 15 บาททุกกิโลกรัมที่ขนไปแจ้งเจ้าหน้าที่ แต่ที่เชียงรายจะวัดน้ำหนักรถที่ขนไปเป็นหลัก เป็นต้น และเมื่อเกษตรกรทำโครงการเสนอขอให้ช่วยเหลือก็ได้รับแจ้งจากจังหวัดให้เขียนแผนไปให้ภายใน 2 วันซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้
“อยากให้แก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอยากได้โรงอบลำไยสีทอง เครื่องร่อนลำไย ระบบน้ำ ไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี และถ่วงเวลา ไม่ต้องรีบนำผลผลิตไปขาย เพื่อไม่ให้ถูกพ่อค้าคนไทยด้วยกันเองรวมตัวกันกดราคา และหาช่องทางส่งขายให้กับพ่อค้าชาวจีนในราคาแพงได้ในที่สุด”
ทั้งนี้ เครือข่ายเกษตรกรทั้งหมดได้ร่วมกันกระจายยื่นข้อเสนอไปยังหลายหน่วยงาน ซึ่งทางจังหวัดได้จัดให้ตัวแทนของแต่ละหน่วยงานเข้ารับเรื่อง และชี้แจงต่อเกษตรกร
โดยข้อแรกกลุ่มเกษตรกรต้องการให้ใช้แรงงาน และวัสดุอุปกรณ์ในพื้นที่ 50% ในการดำเนินโครงการแก้ไขภัยแล้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ จ.เชียงรายได้รับอนุมัติโครงการแก้ไขภัยแล้งตำบลละ 1 ล้านบาทแล้วจำนวน 21 ตำบลใน 9 อำเภอคือ อ.พาน 2 ตำบล พญาเม็งราย 2 ตำบล เชียงของ 1 ตำบล เทิง 6 ตำบล ขุนตาล 2 ตำบล เวียงป่าเป้า 1 ตำบล ป่าแดด 5 ตำบล เมือง 1 ตำบล และแม่สรวย 1 ตำบล
ขอให้พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ต่างๆ เพราะหลายแห่งยังแห้งแล้ง และขอยืมเครื่องมืออุปกรณ์จากโครงการชลประทาน จ.เชียงราย ซึ่งทางชลประทานระบุว่าปัจจุบันมีเครื่องสูบน้ำอยู่จำนวน 7 เครื่อง ส่วนสำนักงานพัฒนาที่ดิน จ.เชียงรายระบุว่าไม่มีเครื่องสูบน้ำ แต่มีการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับนอกเขตชลประทานแล้วจำนวน 100 กว่าแห่ง
นอกจากนี้ ยังขอสนับสนุนจากหน่วยทหารพัฒนาที่ 35 กองบัญชาการกองทัพไทย ให้ช่วยเหลือเรื่องการจัดหาน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขุดบ่อน้ำ บ่อบาดาล การติดตั้งกระแสไฟฟ้าตามสวนลำไยซึ่งยังมีปัญหาเรื่องหลายแห่งไม่มีทะเบียนบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จ.เชียงราย แนะนำให้ไปขอได้โดยขอในนามทะเบียนบ้านใกล้เคียงหรือขอมิเตอร์ชั่วคราว
พร้อมกับขอใช้แรงงานในฤดูเก็บเกี่ยวลำไย ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวภัมพูชา จำนวน 2,000 คน โดยให้ผ่อนปรนเรื่องเอกสาร work permit และเสนอขอจังหวัดฯ จัดงบยุทธศาสตร์จังหวัดสนับสนุนเครื่องร่อนลำไย 4 เครื่อง เครื่องละ 75,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท เตาอบลำไยขนาดเล็ก 2 เตา เตาละ 75,000 บาท รวมเป็นเงิน 150,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 450,000 บาทต่องบฯ