xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำมูล” บุรีรัมย์วิกฤตหนักแห้งสุดในรอบ 20 ปี สันดอนทรายโผล่ เดินข้ามฝั่งไปมาได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แม่น้ำมูล เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงภาคอีสาน ช่วงผ่าน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์วิกฤตหนักตื้นเขินแห้งขอดสุดในรอบ 20 ปี สันดอนทรายโผล่เดินข้ามฝั่งไปมาได้ วันนี้ ( 18 มี.ค.)
บุรีรัมย์ - “น้ำมูล” เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงภาคอีสาน ช่วงผ่าน จ.บุรีรัมย์วิกฤตหนัก ตื้นเขินแห้งขอดสุดในรอบ 20 ปี สันดอนทรายโผล่เดินข้ามฝั่งไปมาได้ กระทบวิถีชีวิตเกษตรกรไม่สามารถทำนาปรัง และประมง ขณะจังหวัดประกาศภัยพิบัติแล้ง 2 อำเภอ ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เดือดร้อน 17 หมู่บ้าน พืชสวนพืชไร่ขาดน้ำแห้งตาย เร่งสำรวจให้ความช่วยเหลือทั้งระยะสั้น และยาว

วันนี้ (18 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ยังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดน้ำในแม่น้ำมูลเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงภาคอีสานช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ มีสภาพตื้นเขินแห้งขอดลงอย่างรวดเร็วในรอบ 20 ปี โดยเฉพาะบริเวณสะพานข้ามลำน้ำมูล บ.ท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก ที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และประกอบอาชีพการประมง ทั้งหาปลา และเลี้ยงปลาในกระชัง ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินจนมองเห็นตอหม้อสะพานโผล่ และบางจุดแห้งขอดจนสันดอนทรายโผล่ ทำให้มีชาวบ้านนำรถบรรทุกขับลงไปตักทรายได้อย่างสบายและสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันได้

จากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและเกษตรกรหลายหมู่บ้านในพื้นที่ ต.ท่าม่วง, ต.สะแก และ ต.สตึก จำนวนมากที่อยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำมูล ต้องอาศัยน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร และการประมง ไม่สามารถประกอบอาชีพได้

โดยชาวบ้านบอกว่าปีนี้น้ำในลำน้ำมูลได้ตื้นเขินและแห้งขอดมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากปกติทุกปีน้ำมูลจะแห้งประมาณปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน เชื่อว่าสาเหตุที่น้ำในลำน้ำมูลประสบปัญหาแห้งขอดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป น้ำได้พัดพาเอาทรายไป ประกอบกับปีนี้มีเกษตรกรใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำจากแม่น้ำมูลขึ้นไปใช้ในการทำนาปรังมากกว่าทุกปี

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.บุรีรัมย์ ระบุว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากภาวะภัยแล้งแล้ว 2 อำเภอคือ อ.เมือง และ อ.พุทไธสง มีประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวม 17 หมู่บ้าน กว่า 1 หมื่นคน เนื่องจากสระน้ำกลางหมู่บ้านที่ใช้ผลิตประปามีสภาพแห้งขอด ไม่สามารถสูบขึ้นไปทำประปาบริการประชาชนได้ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนต้องซื้อน้ำอุปโภคบริโภค

อีกทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติยังมีสภาพตื้นเขินแห้งขอด ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร ทั้งพืชไร่ พืชสวนที่เพาะปลูกไว้ขาดน้ำหล่อเลี้ยงแห้งตายเสียหายอีกจำนวนมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หากมีประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว ทางจังหวัดได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือ แก้ปัญหาภัยแล้ง





กำลังโหลดความคิดเห็น