อ่างทอง - ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงสะพานวัดไชโยวรวิหาร อ่างทอง ระดับน้ำลดจนสันดอนโผล่กลางเจ้าพระยาหลายจุด ชาวบ้านหวั่นภัยแล้งขยายวงกว้างกลาง ด้าน อบจ.อ่างทอง เร่งนำรถแบ็กโฮขุดลอกคลองเพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้ง พร้อมฟื้นฟูแหล่งน้ำให้ชาวบ้านตามนโยบายรัฐบาล
วันนี้ (16 มี.ค.) สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เริ่มขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานวัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง ระดับน้ำลดลงจนสันดอนกลางแม่น้ำโผล่หลายจุด รวมไปถึงเหล็กรอสูงประมาณ 1 เมตร ที่กรมเจ้าท่าได้จัดสร้างเพื่อชะลอการพังทลายของตลิ่งจากการกัดเซาะของน้ำ ซึ่งปกติอยู่ใต้น้ำกลับโผล่มาให้เห็นกว่าครึ่งต้น
ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล่าสุดเช้าวันนี้ ที่สถานีโทรมาตร C7A หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง 0.75 เมตร จากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร และมีหลายแห่งเร่งทำการก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก
นายพยัคฆ์ จำปาทอง ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ไชโย จ.อ่างทอง เปิดเผยว่า ช่วงนี้เริ่มวิตกกังวลถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งเห็นได้จากที่บริเวณกลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อ.ไชโยนั้นมีสันดอนโผ่ลขึ้นกลางแม่น้ำเจ้าพระยาหลายจุด รวมทั้งเหล็กรอที่กันตลิ่งพังก็โผล่ขึ้นมาด้วย
“ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มกังวลว่าแล้งนี้คงจะหนักกว่าทุกปีแน่ เพราะตอนนี้แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งคลองชลประทานหลายแห่งแห้งขอดไปหมด ถ้าถึงเดือนเมษายนคงจะหนักแน่นอน” นายพยัคฆ์ จำปาทอง ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ไชโย จ.อ่างทอง กล่าว
ด้าน นายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) อ่างทอง ได้นำรถแบ็กโฮขนาดใหญ่ จำนวน 4 คัน พร้อมรถบรรทุก 6 ล้อ เพื่อขนดิน จำนวน 3 คัน ดำเนินการขุดลอกคลองชนประทานพร้อมฟื้นฟูแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้แก่ประชาชนในพื้นที่ในโครงการคลองสวยน้ำไหล คืนความใสให้แม่น้ำทั่วประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการมอบของขวัญให้แก่ประชาชน
โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอ่างทอง ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำคลองวัดคู ต.ม่วงเตี้ย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เป็นระยะทางยาวกว่า 9 กิโลเมตร โดยทำการขุดลอกคลองครั้งนี้เพื่อปรับระดับความกว้าง และความลึกของคลองให้ได้ระดับมาตรฐาน โดยขุดลอกตะกอนดินโคลนที่ทำให้คลองเกิดการตื้นเขิน และยังช่วยกำจัดวัชพืชขวางทางน้ำไปในตัวด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ตลอดจนเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนที่จะต้องใช้ในการเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิดได้เป็นอย่างดี และจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก