xs
xsm
sm
md
lg

“มาลาเรีย” ระบาดชายแดนไทย-เขมรตายแล้ว 1 สสจ.ศรีสะเกษเร่งควบคุมป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.ประวิ อ่ำพันธุ์   สสจ. ศรีสะเกษ
ศรีสะเกษ - โรคมาลาเรียระบาดชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.ศรีสะเกษ พบผู้ป่วย 1,500 คน ตายแล้ว 1 ที่ อ.ขุนหาญ สสจ.ศรีสะเกษตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเร่งสกัดเข้ม พร้อมร่วมหน่วยแพทย์ทหารควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด

วันนี้ (11 มี.ค.) นพ.ประวิ อ่ำพันธุ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ศรีสะเกษ กล่าวว่า จากกรณีมีข่าวโรคไข้กาฬหลังแอ่นระบาดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชานั้น ในส่วนของ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีพื้นที่ติดแนวชายแดนกัมพูชา ด้าน อ.ภูสิงห์ อ.ขุนหาญ และ อ.กันทรลักษ์ โดยเฉพาะที่ อ.ภูสิงห์มีจุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ ซึ่งมีชาวไทยและชาวกัมพูชารวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติผ่านเข้าออกเป็นจำนวนมาก จากที่ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีโรคกาฬหลังแอ่นระบาดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือโรคไข้มาลาเรีย และโรคท้องร่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งมีทหารปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาป่วยเป็นโรคนี้กันมาก เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่อยู่ในป่าตามแนวชายแดน รวมทั้งชาวบ้านที่เข้าไปล่าสัตว์ หาของป่า โดยปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรียแล้วประมาณ 1,500 คน เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นชาว อ.ขุนหาญ เมื่อช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนชาวกัมพูชาที่เจ็บป่วยด้วยโรคมาลาเรีย และโรคท้องร่วงที่เข้ามารักษาพยาบาลในเขตไทยนั้น โรงพยาบาลตามแนวชายแดนได้ให้การรักษาพยาบาลเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งไม่ได้คิดค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด

นพ.ประวิกล่าวต่อว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคดังกล่าวแพร่ระบาดมากขึ้นจึงได้ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการเจาะเลือดผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคดังกล่าว รวมทั้งได้ประสานงานกับหน่วยแพทย์เสนารักษ์ของทหาร เพื่อช่วยกันควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคกาฬหลังแอ่นและโรคมาลาเรีย จึงขอเตือนประชาชนว่าควรนอนกางมุ้งและพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปในป่าที่มียุงก้นปล่องซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อโรคมาลาเรียอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งขอให้ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่มีอยู่ในบ้านเรือนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น