ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชลประทานลุยลอกผักตบชวา 500 ตัน ออกจากแม่น้ำปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ เพิ่มคุณภาพน้ำให้ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ และการเกษตรได้ ขณะน้ำในเขื่อนงัดสูงกว่าแผน 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนแม่กวง น่าห่วงหนัก เหลือน้ำแค่ติดก้นอ่าง ต้องสงวนเอาไว้ใช้ผลิตประปาเป็นหลัก
วันนี้ (9 มี.ค.) ที่บริเวณประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ นำเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรเข้าขุดลอกกำจัดผักตบชวาจำนวนมาก รวมทั้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ออกจากบริเวณลำน้ำเหนือประตูระบายน้ำ เพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำ และลดสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำในแม่น้ำปิง
นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า การกำจัดผักตบชวาครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของจังหวัด ในการคืนน้ำให้แก่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งครั้งนี้คาดว่าจะกำจัดผักตบชวาได้ประมาณ 500 ตัน โดยดำเนินการเสร็จภายใน 1 สัปดาห์
สำหรับผักตบชวาที่ตักขึ้นมาจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์แจกจ่ายประชาชน รวมทั้งมอบให้แก่ท้องถิ่นที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งการดำเนินการนี้จะส่งผลดีต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำปิงที่จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถใช้เล่นสาดน้ำช่วงสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงได้ ตลอดจนเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเกษตร
นายเกื้อกูล กล่าวว่า สำหรับสภาพน้ำในแม่น้ำปิง ยังคงมีน้ำหล่อเลี้ยงจากเขื่อนแม่งัด โดยช่วงก่อนหน้านี้ ระบายน้ำสัปดาห์ละประมาณ 2.4 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เพิ่มเป็น 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากพบว่า ช่วงเหนือตัวเมืองเชียงใหม่มีการใช้น้ำมาก ทำให้น้ำไหลมาถึงตัวเมืองช้า และมีปริมาณน้อยลง
ทั้งนี้ จากการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ ส่งผลดีทำให้คลองแม่ข่า สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิงได้ด้วยโดยที่คุณภาพน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ และทำการเกษตรได้ ขณะที่จากการสำรวจยังพบว่า ส่งผลให้ระดับน้ำใต้ประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงลงไป สูงขึ้นจนไหลเข้าฝายได้ทุกแห่ง ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการเพาะปลูก
ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนแม่งัดนั้น ข้อมูลล่าสุด ณ วันนี้ เขื่อนแม่งัด มีปริมาณน้ำ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าแผนที่คาดไว้ว่าเวลานี้น่าจะเหลือน้ำเพียง 120 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำที่มากกว่าแผน 30 ล้านลูกบาศก์ ถือว่าเป็นผลดีอย่างมากหากเกิดภัยแล้งยาวนานกว่าที่คาด ขณะที่เขื่อนแม่กวง เหลือปริมาณน้ำในอ่างประมาณ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ17% เท่านั้น จึงต้องสงวนไว้เพื่อใช้ผลิตน้ำประปาเป็นหลัก และจะปล่อยน้ำให้เกษตรกรเดือนละครั้ง ครั้งละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร