สุโขทัย - สถาบันวิจัยฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือกรมวิชาการเกษตร ติวเข้มเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดแมงลักส่งขายญี่ปุ่นแหล่งใหญ่สุดในประเทศ ป้องกันสารก่อมะเร็ง หลังพบเมล็ดแมงลักบางตัวอย่างในท้องตลาดมีสารอะฟลาทอกซิน สูงเกินกำหนดถึง 3 เท่า
สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร จัดอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่อง กรรมวิธีการผลิตเมล็ดแมงลักปราศจากสารอะฟลาทอกซิน (สารก่อมะเร็ง) ให้แก่เกษตรกรชาว จ.สุโขทัย ที่ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย ต.คลองตาล อ.ศรีสำโรง
ดร.ศรินทิพ สุกใส อาจารย์สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หัวหน้าโครงการฯ) กล่าวว่า แมงลัก เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์กว้างขวาง ใบและยอดอ่อนใช้รับประทานสด เมล็ดใช้แช่น้ำให้พองตัวแล้วบริโภคเป็นอาหารหวาน รวมทั้งใช้เป็นอาหารเสริมช่วยระบายท้องอ่อนๆ
แต่ปัญหาสำคัญของการบริโภคเมล็ดแมงลัก คือ การปนเปื้อนด้วยสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเมล็ดแมงลักบางตัวอย่างในท้องตลาดยังพบสารอะฟลาทอกซินสูงถึง 60 พีพีบี ในขณะที่ อย. กำหนดมาตรฐานอยู่ที่ 20 พีพีบีเท่านั้น
ดร.ศรินทิพ กล่าวว่า สาเหตุการปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน อยู่ที่กระบวนการหลังเก็บเกี่ยว และการนำเมล็ดแมงลักออกจากกระเปาะหุ้มเมล็ด ซึ่งปัจจุบันทำโดยการนำช่อดอกแมงลักตากแห้ง จากนั้นใช้น้ำพรมเพื่อให้เมล็ดแมงลักดูดน้ำ แล้วดันกระเปาะหุ้มเมล็ดให้เปิดออก แล้วจึงนำไปร่อนพร้อมใช้พัดลมเป่าเศษพืชออกไปให้เหลือแต่เมล็ด ก่อนบรรจุถุงรอจำหน่าย
ซึ่งการแยกเมล็ดแมงลักด้วยวิธีนี้ เป็นสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนเชื้อราที่สร้างสารอะฟลาทอกซินในเมล็ดแมงลัก นอกจากนี้ สุโขทัยยังเป็นจังหวัดที่มีการเพาะปลูกเมล็ดแมงลักมากที่สุดในประเทศไทยด้วย โดยกระจายปลูกอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง อ.ศรีสำโรง อ.สวรรคโลก อ.ทุ่งเสลี่ยม และ อ.ศรีสัชนาลัย รวมประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อส่งออกไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น
ดังนั้น จึงมีการร่วมกันประดิษฐ์เครื่องนวดฝัดเมล็ดแมงลักแบบแห้ง เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา และป้องกันการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน ที่เป็นสารก่อมะเร็ง แล้วถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมอบรมให้ความรู้เรื่องกรรมวิธีการผลิตเมล็ดแมงลักปราศจากสารอะฟลาทอกซินแก่เกษตรกร