ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรประชุมร่วมกองทัพอากาศวางแผนปฏิบัติการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อความเสียหายและความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและทรัพย์สิน ขณะเดียวกันเผยตั้งหน่วยปฏิบัติการแล้วพร้อมขึ้นบินทำฝนหลวงทันทีที่ความชื้นเพียงพอเพื่อลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่เชียงใหม่ และภาคเหนือ
วันนี้ (6 มี.ค. 58) ที่ท่าอากาศยานกองบิน 41 เชียงใหม่ นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมวางแผนดำเนินโครงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือ ประจำปี 2558 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกับกองทัพอากาศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย
ทั้งนี้ นายวราวุธระบุว่า โครงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บนี้ เป็นโครงการภายใต้พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง เพื่อยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บที่มักจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เนื่องจากช่วงฤดูร้อนมักจะมีพายุฤดูร้อนและพายุลูกเห็บ สร้างความเสียหายแก่ที่อยู่อาศัยและพืชผลทางการเกษตร
ดังนั้น ทางภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีฝนหลวงมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการใช้เครื่องบินอัลฟาเจ็ต ซึ่งได้รับการสนับสนุนร่วมมือจากกองทัพอากาศ ในการจู่โจมและยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์เข้าใส่กลุ่มเมฆที่มีความเสี่ยงจะก่อตัวเป็นลูกเห็บ เพื่อเป็นการไปเร่งให้เมฆก่อตัวกลั่นเป็นฝนก่อนที่จะไปรวมตัวเป็นกลุ่มเมฆก้อนใหญ่ที่กลายเป็นพายุลูกเห็บ ซึ่งจะสามารถยังยั้งหรือบรรเทาความรุนแรงของภัยพิบัติจากพายุลูกเห็บได้ อีกทั้งยังเป็นการลดการสูญเสียทั้งเรื่องทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรอีกด้วย
ส่วนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือในระยะนี้นั้น นายวราวุธเปิดเผยว่า เบื้องต้นมีการกำหนด 3 เป้าหมายหลัก โดยนอกจากการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บแล้ว จะเป็นการปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใช้ในการเกษตรและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อมปฏิบัติการอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถขึ้นบินปฏิบัติการได้ เนื่องจากความชื้นในอากาศมีไม่ถึง 60% ที่เพียงพอจะทำให้เกิดฝนได้ แต่กำลังเฝ้าติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และคาดว่าอีก 2-3 วันอาจจะสามารถขึ้นบินทำฝนได้ หากความกดอากาศสูงที่กำลังเคลื่อนเข้ามาพัดพาความชื้นมาด้วยตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้