xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อพิษค่าเงินทำมูลค่าส่งออกเนื้อไก่ไทยไตรมาสแรกปี 58 วูบกว่า 20%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ระบุผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และพิษค่าเงินคู่ค่าในยุโรป ทำมูลค่าการส่งออกไตรมาสแรกของปี 2558 ลดลงกว่า 20% แม้ตัวเลขการส่งออกจะเท่าเดิม เตือนผู้เลี้ยงรายย่อยดูทิศทางการตลาดก่อนเพิ่มปริมาณการเลี้ยง หวั่นเกิดปัญหาโอเวอร์ซัปพลาย



นางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริษัท ฉวีวรรณฟาร์ม จำกัด ในฐานะนายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงทิศทางการส่งออกเนื้อไก่ไทย โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งในรูปของเนื้อไก่สดแช่แข็ง และเนื้อไก่ปรุงสุก ว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 มูลค่าการส่งออกอาจลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากผลของค่าเงินยูโร และเงินปอนด์ที่อ่อนตัวลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ในแถบเอเชียก็กำลังซบเซา นอกจากนั้น หลายประเทศที่สั่งสต๊อกเนื้อไก่จากไทยในปริมาณมากเพื่อใช้ในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ก็ยังใช้สินค้าที่มีอยู่ ไม่มีคำสั่งซื้อเพิ่ม

นอกจากนั้น ปัญหาเรื่องการขยายพื้นที่เลี้ยงไก่ของกลุ่มเกษตรกร กำลังทำให้ตลาดส่งออกเนื้อไก่ของไทยมีปัญหาโอเวอร์ซัปพลาย จนทำให้คู่ค้าในต่างประเทศกดราคารับซื้อจากเดิมลงเกือบ 1 พันเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

“ปัญหาเรื่องค่าเงินที่สวนทางกัน ระหว่างค่าเงินบาทของไทยที่แข็งขึ้น ส่วนค่าเงินยูโร และเงินปอนด์อ่อนตัวลง ทำให้มูลค่าการส่งออกเนื้อไก่ในไตรมาสแรกได้รับผลกระทบ แม้ตัวเลขการส่งออกจะเท่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นช่วงที่ประเทศคู่ค้าจะใช้สินค้าที่สต๊อกไว้ให้หมดก่อน จึงทำให้ไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา และเราเชื่อว่าเมื่อขึ้นไตรมาสที่ 2 คำสั่งซื้อจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะในเดือนเมษายนจะมีการสวิงตัวกลับ”

นางฉวีวรรณ ยังฝากเตือนกลุ่มเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งผู้ประกอบการในประเทศว่า ให้พิจารณาถึงทิศทางตลาด และความต้องการบริโภคเนื้อไก่ทั้งใน และต่างประเทศอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจขยายพื้นที่เลี้ยง เพื่อป้องกันปัญหาขาดทุนจากภาวะสินค้าล้นตลาด ซึ่งจะทำให้ถูกกดราคารับซื้อจากประเทศคู่ค้า นำมาซึ่งภาวะขาดทุน จนต้องหยุดการดำเนินธุรกิจลง

“สำหรับผู้เลี้ยงรายย่อยอยากเตือนว่า หากยังมีตลาดที่ไม่ชัดเจน ขอให้ชะลอการขยายพื้นที่เลี้ยงไปก่อน เพราะนอกจากจะต้องแบกรับปัญหาต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่แพงมากแล้ว ยังจะถูกกดราคารับซื้อ โดยเฉพาะในรายที่ต้องใช้เงินกู้จากแบงก์พาณิชย์ ที่อาจต้องประสบปัญหาขาดทุนจนต้องปิดตัวลง”

กำลังโหลดความคิดเห็น