xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล อบรมเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน หลังพบมูลค่าตลาดกว่าแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เตรียมจัดอบรมการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนเชิงพาณิชย์ ให้แก่เกษตรกรที่มีอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 6-7 มี.ค.นี้ หลังพบธุรกิจปลาสวยงามมีมูลค่าการซื้อขายทั่วโลกกว่าแสนล้านบาท

ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า วันที่ 6-7 มีนาคมนี้ สถานบันจะจัดอบรมการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนเชิงพาณิชย์ให้แก่เกษตรกรที่มีอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือที่ต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพ รวมถึงชมรมประมง ชุมชนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องต่อการทำการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือผู้ว่างงาน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป

หลังพบว่า การเลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรกเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ สามารถก่อให้เกิดธุรกิจปลาสวยงามที่มีมูลค่าการซื้อขายทั่วโลกกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดสหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด มีผู้นิยมเลี้ยงปลาสวยงาม และธุรกิจปลาสวยงามถึง 60% รองลงมาคือ ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน และออสเตรเลีย ขณะที่การสำรวจการนำเข้าปลาสวยงามในยุโรป พบมีตัวเลขปลาทะเลที่นำเข้าในยุโรปเท่ากับ 16% ของจำนวนปลาที่นำเข้าทั้งหมด เทียบกับปลาน้ำจืดที่มี 37% ในปี 1992

โดยพบว่าครอบครัวชาวอเมริกันมีตู้ปลาทะเลถึง 700,000 ครอบครัว ส่วนในแคนาดา มีครอบครัวที่เลี้ยงปลาทะเลถึง 95,000 ครอบครัว และจำนวนผู้เลี้ยงปลาทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากเทคโนโลยีการเลี้ยงปลาทะเลสวยงามที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งชนิดที่นิยมนำมาเลี้ยง ได้แก่ ปลาการ์ตูน (Clownfish) ปลาสินสมุทร (Angelfish) Royal gamma, Hamlets, Spot-fin, ปลาสลิดน้ำเงินหางเหลือง (Yellowtail Damsels) และขี้ตังเบ็ดน้ำเงิน (Blue tang)

“สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ตระหนักถึงบทบาท และหน้าที่ในฐานะที่เป็นสถาบันวิจัย มีสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มอยู่ในความดูแล และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงปลาทะเล สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และพืชทะเลสวยงาม (Marine Ornamentals) ซึ่งภารกิจนี้สถาบันได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงปลาในกลุ่มปลาการ์ตูน ได้พัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงในระดับห้องปฏิบัติการ จนถึงระดับที่สามารถที่จะควบคุมวงจรชีวิตของปลาการ์ตูนในที่กักขังเป็นผลสำเร็จ”

ดร.เสาวภา กล่าวว่า สำหรับการวิจัยเรื่องการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนเพื่อเชิงพาณิชย์ สถาบันได้รับทุนอุดหนุนวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 และเพื่อเป็นการขยายผลงานวิจัยไปในระดับเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันสถาบันได้พัฒนาต้นแบบการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนที่เกษตรกรสามารถนำแบบไปดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จ และที่ผ่านมา มีผู้สนใจได้เข้ามาขอดูงาน และขอฝึกงานอย่างต่อเนื่อง

“สถาบันเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม การออกไปส่งเสริมอาชีพ ให้คำแนะนำ เผยแพร่ในรูปของคู่มือ แผ่นพับ นิทรรศการ เพื่อให้เกษตรกร และผู้สนใจนำไปประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดผลในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีงานทำ มีอาชีพทางเลือกใหม่เพิ่มขึ้น จึงได้กำหนดแผนการเผยแพร่งานวิจัยตามวัน และเวลาดังกล่าว”



กำลังโหลดความคิดเห็น