xs
xsm
sm
md
lg

เมืองน้ำดำนำ นร.เข้าค่ายดนตรีพื้นบ้าน ป้องกันปัญหาวาเลนไทน์นอกลู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - โรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ นำนักเรียนในสังกัดทั้งหมด 400 คน เข้าค่ายนาฏศิลป์และดนตรีพื้นบ้านอีสาน เพื่อสื่อรักในวัฒนธรรมพื้นถิ่น ป้องกันการทำกิจกรรมนอกลู่ของนักเรียนช่วงวาเลนไทน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ก.พ.) ที่โรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ นายรังสรรค์ สำราญรื่น นายกเทศมนตรีตำบลขมิ้น เป็นประธานในการเปิดโครงการบริการทางวิชาการด้านดนตรี และนาฏศิลป์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาตำบลขมิ้น โรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ และวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ โดย นายสำรอง ภูงามนิล ผู้อำนวยการโรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ ขณะที่ ดร.ธีรารัตน์ ลีลาเลิศสุรกุล ผอ.วนศ.กาฬสินธุ์ นางสุคนธา จันโทมุท รอง ผอ.วนศ.กาฬสินธุ์ ได้นำคณาจารย์ นักเรียนในสังกัด และผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 400 คน

โดยเป็นการจัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนในสังกัดที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นได้ร่วมแสดงออกความรักที่ถูกทางและถูกต้องในช่วงวาเลนไทน์

นายสำรอง ภูงามนิล ผู้อำนวยการโรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมอีสานเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรี การฟ้อนรำ และการขับร้อง แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้วัยรุ่นสมัยใหม่ไม่เห็นคุณค่า และไม่ใส่ใจในการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ โดยเฉพาะวงดนตรีโปงลาง ซึ่งเป็นการแสดงประจำท้องถิ่นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้นักเรียนทุกๆ คนได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติอย่างถ่องแท้

นอกจากนี้ ยังเป็นกิจกรรมที่จะช่วยป้องกันปัญหาของวัยรุ่นในช่วงวาเลนไทม์ด้วย ถือเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมที่จะทำให้เกิดความตระหนักถึงความรักที่ไม่นอกลู่นอกทาง เพราะนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 400 คน จะอยู่ในเขตโรงเรียน และอยู่ภายใต้การดูแลของคณะครู และตัวแทนผู้ปกครอง

นางสุคนธา จันโทมุท รองผอ.วนศ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริการทางวิชาการของ วนศ.กาฬสินธุ์ ที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติจากพี่สู่น้อง เป็นการถ่ายทอดความรู้เพื่อต่อยอดการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสานโดยเฉพาะวงดนตรีโปงลาง ที่กาฬสินธุ์ เป็นต้นกำเนิดของเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นมีนักเรียนระดับมัธยมปลาย และนักศึกษาระดับปริญญาตรี ของวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ เป็นกำลังหลักในการถ่ายทอดองค์วิชาความรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกๆ คน ทั้งครู นักเรียน และผู้สนใจทั่วไปในชุมชนด้วย

สำหรับกิจกรรมบริการทางวิชาการครั้งนี้ นักศึกษาที่เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้จะพักอาศัยอยู่กับชุมชนในลักษณะโฮมเสตย์ ที่มีผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมรับนักศึกษาไปอยู่ร่วมบ้านด้วยเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ส่วนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องอาศัยอยู่ในโรงเรียนตลอดช่วงเวลาของการดำเนินโครงการ


กำลังโหลดความคิดเห็น