เชียงราย - เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด่านศุลกากรฯ บุกตรวจสินค้าในท่าเรือเชียงแสน 2 พบมีเอกชนขอขนสารเคมีผ่านแดนจากจีนรอส่งเข้าพม่าถึง 2 หมื่น กก. บอกใช้ในอุตสาหกรรม แต่ใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตได้ทั้งยาไอซ์ได้ 4 พัน กก. หรือใช้ผลิตยาบ้าได้มากถึง 200 ล้านเม็ด จนต้องขออายัดไว้ตรวจสอบ 3 วัน
วันนี้ (11 ก.พ.) นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นำเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.ร่วมกับด่านศุลกากรเชียงแสน เข้าตรวจสอบสินค้าในท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 บริเวณปากแม่น้ำกกไหลลงสู่แม่น้ำโขง บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย หลังได้รับแจ้งว่ามีผู้ประกอบการขออนุญาตนำสินค้าที่เป็นสารเคมีจำนวนมากส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบว่าสารเคมีที่จะส่งออกเป็นสาร “เมทิลินคลอไรด์” หรือ “ไดคลอโรมิเทน” โดยผู้ที่ขออนุญาตส่งออกคือ หจก.อาร์.เอส.อาร์.เทรดดิ้ง ซึ่งได้ขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว และได้แจ้งจะขออนุญาตส่งออกเป็นสินค้าผ่านแดนไปยังด่านศุลกากรเชียงแสน-ท่าเรือ รวม 20,000 กิโลกรัม หรือ 20 ตัน
โดยมีการบรรจุเอาไว้ในถังโลหะทรงกรวยสีเงิน ติดตราสัญลักษณ์เป็นสารเคมีอันตรายหรือหัวกะโหลก มีฝาจุกเปิดปิดสีน้ำเงิน ถังละ 250 กิโลกรัม น้ำหนักรวมถัง 269 กิโลกรัม
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่พบว่าสารเคมีดังกล่าวนอกจากนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นสารตั้งต้นเพื่อการผลิตยาบ้า ยาไอซ์ และโคเคน ได้เป็นจำนวนมาก โดยใช้เป็นตัวทำละลายในการผลิตยาเสพติดดังกล่าว ในอัตราส่วนสารเคมี 5 ลิตรสามารถนำไปผลิตยาไอซ์ได้ประมาณ 1 กิโลกรัม และหากนำไปผสมกับกาเฟอีนและสารอื่นๆ จะสามารถผลิตยาบ้าได้จำนวน 50,000 เม็ด
ดังนั้น ด้วยปริมาณสารดังกล่าวทั้งหมด หากนำไปใช้เพื่อการผลิตยาไอซ์จะได้ปริมาณกว่า 4,000 กิโลกรัม หรือถ้าผลิตยาบ้าจะได้ยาบ้ากว่า 200,000,000 เม็ดทีเดียว
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับสารเคมีดังกล่าวได้มีการแจ้งว่านำเข้ามาจากประเทศจีน และจะขอผ่านไปยังประเทศพม่า ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย และมีท่าเรือสำคัญๆ ในแม่น้ำโขง คือ ท่าเรือเมืองพง ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ไปทางทิศเหนือประมาณ 16 กิโลเมตร หรือที่ท่าเรือเมืองสบหรวย ที่อยู่ห่างไปประมาณ 195 กิโลเมตร
อย่างไรตาม ยังไม่มีรายละเอียดเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน แต่มีการขออนุญาต และขอเป็นสินค้าผ่านแดนอย่างถูกต้อง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องขออายัดตรวจสอบเพิ่มเติมเป็นเวลา 3 วัน โดยเฉพาะเรื่องเอกชนที่จะไปรับสินค้าที่ปลายทาง เพื่อดูว่ามีการนำสารเคมีไปใช้เกี่ยวข้องกับกิจการโรงงานอุตสาหกรรมใดหรือไม่อย่างไร
นายเพิ่มพงษ์กล่าวว่า สารเคมีทั้งหมดสามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องขอทำการตรวจสอบก่อน แม้ตามกฎหมายการขนย้าย เมื่อได้ผ่านการอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และขอส่งออกไปแล้วก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่เจ้าหน้าที่ก็อยากจะทราบว่านำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งหรือไม่
“ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าวิธีการนี้อาจเป็นช่องทางให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดใครได้เช่นกัน”