xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบคนงานโรงฆ่าสัตว์ตากชื่นมื่นได้ค่าแรงเพิ่ม แต่ห้ามฟาร์มส่ง “หมู 5 เล็บ” ให้ฆ่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตาก - เทศบาลเมืองตากยอมเพิ่มค่าจ้างให้คนงานโรงฆ่าสัตว์แล้ว หลังนัดหยุดงานประท้วงจนหมูขาดตลาด เขียงหมูต้องหยุดขายทั่วพื้นที่ 4 อำเภอฝั่งตะวันออก ขณะที่คนงานยื่นเงื่อนไขเพิ่มห้ามฟาร์มส่ง “หมู 5 เล็บ” ให้เชือด บอกขัดความเชื่อ ให้บริจาควัดแทน

วันนี้ (5 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังคนงานโรงฆ่าสัตว์เทศบาลเมืองตากประท้วงหยุดงานคืนวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา จนทำให้เขียงหมูในตลาดสุดพื้นที่ 4 อำเภอตะวันออกไม่มีเนื้อหมูขาย ต้องปิดเขียงกันแทบทั้งหมดตลอดวานนี้ (4 ก.พ.) ล่าสุด พ.อ.สาธร ศิริยานนท์ รอง เสธ.กกล.รส.จทบ.ตาก และ พ.ท.จิตรกร บุญตา น.ฝขว.กกล.รส.จทบ.ตาก ได้เข้าร่วมประชุมเจรจาแก้ปัญหาร่วมกับเทศบาลเมืองตาก และผู้เกี่ยวข้องทั้งคนงาน พ่อค้าแม่ค้า

ทั้งนี้ พนักงานโรงงานฆ่าสัตว์แจ้งว่า เดิมได้รับเงินเดือนเดือนละ 6,780 บาท ต้องการเพิ่มให้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท, ต้องการได้คอกหมู และกลอนประตูคอกหมูที่แข็งแรง เนื่องจากปัจจุบันหมูวิ่งชนออกจากคอกหมูได้, เรื่องมีดในการชำแหละหมู และเครื่องช็อตไฟฟ้าไม่มีคุณภาพ รวมถึงเรื่องฟาร์มหมูที่ส่งหมู 5 เล็บมาให้พนักงานชำแหละ พนักงานจะไม่ทำให้เนื่องจากเป็นเคล็ด รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าจะไม่นำไปจำหน่าย โดยปกติจะยกหมู 5 เล็บให้วัดเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาช้านาน

ด้านนายอนันต์ชัย ทวีเกื้อกูลกิจ นายกเทศมนตรีเมืองตาก สรุปในที่ประชุมว่า จะเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานคนละ 300 บาทต่อเดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2558 เป็นต้นไป ส่วนเรื่องมีดชำแหละหมูและเครื่องช็อตไฟฟ้าจะดำเนินการภายในเดือนเดียวกันนี้

นายอนันต์ชัยบอกอีกว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเงินอุดหนุนทั่วไปจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่เคยได้รับ 22 ล้านบาท เหลือเพียง 14 ล้านบาท ลดลงไป 8 ล้านบาท ทำให้ต้องปรับแผนงบประมาณของเทศบาลฯ ทั้งระบบ รวมถึงชะลอการปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงานจ้างเหมาโรงฆ่าสัตว์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลเมืองตากยอมรับข้อเรียกร้องในการปรับขึ้นเงินเดือนของคนงานเพราะเป็นความตั้งใจอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเป็นไปตามระบบราชการ ซึ่งต้องมีระยะเวลา ขั้นตอน เพื่อไม่ให้ผิดระเบียบ ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้หารือร่วมกันกับพ่อค้าแม่ค้า กรณีทางเทศบาลเมืองตากได้ขอขึ้นค่าธรรมเนียมฆ่าสุกร จากเดิม 80 บาทต่อตัวเป็น 150 บาทต่อตัว เช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่นๆ ในภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าก็ยอมรับเงื่อนไข

พ.อ.สาธร ศิริยานนท์ รอง เสธ.กกล.รส.จทบ.ตาก กล่าวว่า ตามนโยบายของ ผบ.กกล.รส.ทภ.3 และ ผบ.กกล.รส.จทบ.ตาก ให้เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่เข้ามาดูแลปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้ทุกฝ่ายสามารถตกลงกันได้ด้วยความเรียบร้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น