xs
xsm
sm
md
lg

“คนไร้บ้านขอนแก่น” ทุกข์หนัก เรียกร้องเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - “กลุ่มคนไร้บ้าน” เรียกร้องการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานทางสังคม เผยเฉพาะในเขตเทศบาลนครขอนแก่นมีคนไร้หลักแหล่งมากกว่า 300 ราย ไม่มีบัตรประชาชนแสดงตัวตนเพื่อใช้สิทธิ์ ด้านจังหวัดขอนแก่นตั้งเป้าภายใน 3 ปีข้างหน้าคนไร้บ้านทุกคนต้องมีที่พักอาศัยและมีงานทำ

ไม่น่าเชื่อว่ายุคสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ในสังคมไทยยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีแม้แต่หลักแหล่งที่อยู่อาศัยและไม่มีบัตรประชาชนแสดงตนเป็นคนไทย อยู่กินไปวันๆมองไม่เห็นแม้แต่อนาคต...อย่างกรณี คนไร้บ้านในเขตเทศบาลนครขอนแก่นจำนวนมาก ที่ใช้สถานที่สาธารณะเป็นที่พักอาศัย ประทังชีวิตด้วยข้าวก้นบาตรทุกวันเพื่อเดินทางต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดหมาย

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น...บางคนทำเอกสารที่ใช้แสดงตัวตนว่าตัวเองเป็นใครหาย ทำให้ขาดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานในด้านการรักษาพยาบาลและสวัสดิการทางสังคม

นายธเนศธ์ จรโณทัย ตัวแทนเครือข่ายคนไร้บ้าน เล่าว่า จากกรณีปัญหาดังกล่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมาเครือข่ายคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่นได้ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. โรงพยาบาลขอนแก่น สํานักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น บ้านมิตรไมตรี เครือข่ายฟื้นฟูประชาสังสรรค์ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเวทีการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไร้บ้านเรื่องบัตรประชาชน” ที่บริเวณศาลหลักเมืองจังหวัดขอนแก่น

ทั้งนี้ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาของกลุ่มคนไร้บ้านที่แต่ละคนกำลังเผชิญอยู่ โดยมีกิจกรรมให้บริการตรวจและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ บริการให้คำปรึกษาด้านการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน และบริการตัดผม รวมถึงการแจกเครื่องอุปโภคบริโภคของใช้จำเป็น

นายธเนศธ์ระบุว่า จากการลงพื้นที่สำรวจคนไร้บ้านในจังหวัดขอนแก่นร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเก็บข้อมูลประวัติรวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนไร้บ้านนั้น พบว่าตามเอกสารเฉพาะพื้นที่เขตเทศบาลนครขอนแก่นมีคนไร้บ้านราว 180 กว่าคน แต่ความเป็นจริงแล้วมีมากกว่า 300 คน ส่วนหนึ่งมีการอพยพไปอยู่ที่อื่น และย้ายกลับมาอยู่ในเขตเทศบาลฯ เหมือนเดิม ทำให้จำนวนคนไร้บ้านในช่วงที่เก็บข้อมูลไม่คงที่

สำหรับคนไร้บ้านที่มาเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ไม่สามารถได้รับสิทธิต่างๆ จากรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐด้วยบัตรทอง 30 บาท การได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึงไม่สามารถเข้าพักอาศัยหรือเช่าที่อยู่อาศัยได้

เช่นเดียวกับนางก้อย (สงวนนามสกุล) อายุ 51 ปี หนึ่งในกลุ่มคนไร้บ้านในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เล่าว่า ขณะนี้ตนเร่ร่อนไปเรื่อยๆ ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น มีชีวิตอยู่ไปวันๆ ลูกก็ไม่รับเลี้ยง ส่วนครอบครัวพี่น้องก็ไม่รักกันจึงกระจัดกระจายไปคนละทาง ซึ่งบางวันต้องไปขอร้านค้าล้างจานเพื่อแลกข้าวประทังชีวิตหรือเงินตอบแทนเพียงน้อยนิด แม้จะมีบัตรประจำตัวประชาชน แต่เมื่อไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งทำให้หางานยาก ไม่มีใครยอมรับ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการมีงานทำด้วย

ขณะที่นายชาญชัย คุ้มเนตร อายุ 50 ปี ระบุว่า พื้นเพเดิมตนเป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี ออกจากบ้านเร่ร่อนมายังจังหวัดขอนแก่นเพื่อขายลูกโป่ง แต่ของที่จะขายถูกขโมยไปขณะที่กำลังหลับนอนบนฟุตปาธทำให้ตนไม่มีของขาย ไม่มีรายได้ซื้อข้าวกิน จำเป็นต้องตระเวนไปตามวัดต่างๆ เพื่อขอข้าวก้นบาตรประทังชีวิต และอาบน้ำตามห้องน้ำสาธารณะ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ไม่มีเปลี่ยน เวลาอากาศหนาวก็ไม่มีเสื้อผ้าใส่

แม้ว่าขณะนี้ตนมีบัตรประชาชนแล้ว ซึ่งดีกว่าแต่ก่อนที่เวลาเจ็บป่วยไปที่โรงพยาบาลไหนก็ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ ทั้งนี้ตนไม่กล้ากลับบ้านพบกับพี่น้องเพราะอับอายที่กลายเป็นคนหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีอนาคต

ด้านเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่พักอาศัยเปิดเผยว่า ปัญหาที่ทางเครือข่ายคนไร้บ้านพบมากที่สุดคือ คนที่ทำบัตรประจำตัวประชาชนหายเป็นเวลานานแล้วจำที่อยู่ของตัวเองไม่ได้ ไม่สามารถบอกชื่อพ่อแม่ ญาติพี่น้องได้ ทำให้ยากต่อการออกบัตรประจำตัวประชาชน หรือในกรณีที่ออกจากบ้านมาอาศัยอยู่ในที่สาธารณะหลายสิบปีแล้วไม่ไปติดต่อกับทางหน่วยงานราชการ

“สำหรับการแก้ปัญหาในอนาคตเพื่อให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยและได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันกับหลายภาคส่วน เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากการออกบัตรประชาชนนั้นหากพบเป็นบุคคลไร้ญาติไม่มีบุคคลมายืนยันจะทำบัตรประจำตัวประชาชนไม่ได้ จำเป็นต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิสูจน์ดีเอ็นเอต่อไป”

ขณะที่นายสุขุม ดลโสภณ ผู้ตรวจการทะเบียน จ.ขอนแก่น บอกว่า ขั้นตอนการสืบค้นประวัติว่าเป็นใครมาจากไหนของบุคคลไร้บ้าน รวมถึงคนเร่ร่อนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ทำให้โครงการที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจในเจตนาระหว่างรัฐบาลกับคนไร้บ้าน จึงจำเป็นจะต้องมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

โดยคณะทำงานแก้ไขคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านเป็นคณะทำงานแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

อย่างไรก็ตาม โครงการพบปะคนไร้บ้านถือเป็นการเปิดพื้นที่ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคม ให้ทราบว่าภาคประชาสังคมนั้นมีความมุ่งมั่นให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกับคนทั่วไปให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า



กำลังโหลดความคิดเห็น