xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอเผยลงทุนภาคเหนือปี 57 ขยายตัว พร้อมคาดแนวโน้มปีนี้ยังใกล้เคียงกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศักดิ์ชัย เหลืองสถิตกุล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 เผยภาพรวมการลงทุนภาคเหนือปี 57 ขยายตัวจากปีก่อน นักลงทุน 17 จังหวัด แห่ยื่นขอรับการส่งเสริม 212 โครงการ มูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร ระบุหลักเกณฑ์ใหม่ที่เริ่มใช้ปี 2558 เน้นหนุนโครงการลงทุนที่ใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาปรับตัวอีก 1-2 ปี แต่ยังเชื่อการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนปีนี้จะยังใกล้เคียงปีก่อน เนื่องจากยังมีมาตรการอื่นๆ สนับสนุน

นายศักดิ์ชัย เหลืองสถิตกุล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 เปิดเผยภาพรวมการลงทุนภาคเหนือในปี 2557 ที่ผ่านมาว่า มีการนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 212 โครงการ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริม 66,902.8 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 41,536 คน ซึ่งพบว่า จำนวนโครงการและมูลค่าคำขอส่งเสริมเพิ่มขึ้น 34% และ 36% ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 ที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 158 โครงการ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริม 49,044.5 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 10,734 คน ทั้งนี้เฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ในปี 2557 มีนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 146 โครงการ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริม 37,867.1 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 35,929 คน

สำหรับอุตสาหกรรมที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริม 3 อันดับแรกเมื่อคิดตามจำนวนโครงการ ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 118 โครงการ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริม 30,947.4 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 32 โครงการ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริม 4,732.8 ล้านบาท และกิจการบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 25 โครงการ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริม 30,947.4 ล้านบาท 20,704.2 ล้านบาท

โดยโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมเป็นของนักลงทุนไทย 74% เป็นนักลงทุนต่างชาติ 17% และร่วมทุน 9% ซึ่งนักลงทุนต่างชาติอันดับ 1 ในภาคเหนือเป็นการลงทุนจากญี่ปุ่น รองลงมาเป็นกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในปี 2558 นั้น นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้นำหลักเกณฑ์การอนุมัติส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่มาใช้ในปี 2558 นี้ โดยมุ่งเน้นให้การสนับสนุนในอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงอาจทำให้เอกชนต้องใช้เวลาปรับตัว 1-2 ปี เพื่อเตรียมตัวให้เข้าต่อหลักเกณฑ์ใหม่

อย่างไรก็ตาม การที่มาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงอยู่และจะสิ้นสุดในปี 2560 และนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะส่งผลให้จำนวนโครงการของผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีมูลค่าการลงทุนที่สูงขึ้น และคาดว่าจะทำให้ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2558 ยังคงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 กล่าวถึงทิศทางการลงทุนในภาพรวมของประเทศว่า ในปี 2558 จะต้องติดตามปัจจัยที่สำคัญที่อาจจะมีผลกระทบ ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราการเติบโตของประเทศคู่ค้าหลัก โดยสหรัฐอเมริกา มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจพอสมควร แต่ตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นยังไม่ค่อยดีนัก ทำให้ขาดปัจจัยในการดึงดูดให้เอกชนขยายการลงทุน

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองก็มีผลด้วยเช่นกัน ซึ่งในส่วนของ BOI จะมีการดำเนินการต่างๆ ให้เกิดการขอรับการส่งเสริมที่ดียิ่งขึ้น โดยการพูดคุยสร้างความเข้าใจให้แก่นักลงทุนอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง รวมทั้งมีการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการสนับสนุนนักลงทุน เช่น มาตรการเงินทุนอุดหนุนการวิจัย และการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น เพื่อให้มีความพร้อม และเป็นผลดีต่อทิศทางการลงทุน



กำลังโหลดความคิดเห็น