ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักศึกษาหลายสถาบันในเชียงใหม่เริ่มวิตกกังวลกรณี กยศ.จะไม่อนุมัติเงินกู้ยืมให้หากเกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.00 นักศึกษาหลายคนเตรียมหาทางออก ไม่ขยันเพิ่มขึ้นก็เริ่มหาลู่ทางทำงานหาค่าเทอม บางรายถึงขั้นหยุดเรียนไว้ก่อน
จากกรณีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ออกหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. โดยมีหลักเกณฑ์ที่ผู้กู้ต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.00 และเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง โดยจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ในเดือน พ.ค. 2558 เป็นต้นไป
ASTVผู้จัดการออนไลน์ออกสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหลายสถาบันในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีจำนวนไม่น้อยที่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.00 ทั้งที่เป็นผู้กู้รายเก่าเดิมจากมัธยมศึกษาตอนปลาย และผู้กู้รายใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นกู้เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยปี 1 ต่างแสดงความคิดเห็นแทบจะเป็นไปในทำนองเดียวกันว่าอาจต้องหยุดเรียนไว้ชั่วคราวหรือไม่ก็ต้องออกหางานทำหาก กยศ.ไม่ให้กู้
นายอนุศักดิ์ กันตีมูล นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เป็นผู้กู้รายเก่าตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย กล่าวว่า ตนได้กู้ยืมเงินมาตั้งแต่ชั้น ม.5 รวมยอดกู้ที่ผ่านมาทั้งหมดประมาณ 70,000 บาท เพราะนอกจากค่าเทอมที่ กยศ.เป็นผู้ออกให้ต่อเทอมก็ยังมีค่าครองชีพอีกเดือนละ 2,200 บาท ซึ่งถือว่ามากสำหรับตนที่ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน และทำอาชีพเกษตรกรอยู่บนดอย
สำหรับเกรดเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 1.56 เกรดค่อนข้างต่ำเพราะเกิดปัญหากับการปรับตัวในการเรียนและร่วมกิจกรรมกับทางมหาวิทยาลัย “หากเกรดในเทอมต่อไปยังไม่ดีขึ้นก็คงจะลาออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานอีกแรง เพราะถ้ายังเรียนต่อหนี้ที่กู้ยืมก็คงจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ และทางครอบครัวอาจจะรับภาระไว้ไม่ไหว” นายอนุศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน น.ส.วรินดา สุรินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 กล่าวว่า ตนขอกู้ยืมเงินมาตั้งแต่ชั้น ม.4 ซึ่งนับจนถึงตอนนี้หนี้ที่มีอยู่ก็ประมาณ 90,000 บาท ถือเป็นหนี้ก้อนโตมากสำหรับเด็กอายุ 18 ปีที่ไม่มีรายได้อะไร เพราะตนยังไม่ได้คิดถึงเรื่องทำอาชีพเสริม เพราะปี 1 มีกิจกรรมมาก หากขาดกิจกรรมหลักๆ ไปก็จะเป็นผลต่อการกู้ยืมเงินที่ทาง กยศ.ตั้งหลักเกณฑ์ไว้จะต้องร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง
“ถ้าภาคเรียนต่อไปไม่สามารถทำเกรดเฉลี่ยให้ได้ถึง 2.00 และไม่สามารถกู้เงินได้ก็อาจหยุดการเรียนไว้ก่อน เพราะทางบ้านค่อนข้างยากจนและอาจจะไม่มีเงินใช้คืนให้กับ กยศ.พอ จึงต้องออกไปหางานทำ และหาทุนการศึกษาไว้เรียนต่อ เพื่อที่จะลดภาระจากทางบ้านด้วย” น.ส.วรินดากล่าว
น.ส.อารีรัตน์ พุทธา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้รายเก่าคิดเหมือนกันกับเพื่อนๆ หลายคนว่า คงจะไปทำงานหารายได้เสริมตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่เปิดรับสมัครทำในช่วงระหว่างเรียนไปด้วย หรือถ้าไม่ได้จริงๆ ก็คงจะนำรถมอเตอร์ไซค์ไปเข้าไฟแนนซ์มาเป็นค่าเทอมและค่ากินต่อวัน