ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - วัดและชาวบ้านรอบวัดล่ามช้างเชียงใหม่ค้านการโอนสิทธิ์เช่าที่ดินวัดร้างทำเลทองย่านแหล่งท่องเที่ยวกลางเวียง ให้เอกชนเช่าทำสถานบริการรับนักท่องเที่ยวด้วยอัตราแสนถูก สำนักพุทธปิดปากเงียบ
วันนี้ (19 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านรอบวัดล่ามช้าง อ.เมืองเชียงใหม่ ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรให้ช่วยตรวจสอบและระงับการให้เช่าที่ดินวัดร้างชื่อว่า “วัดต้นปูน” ที่อยู่ติดกับวัดล่ามช้าง แก่เอกชนเช่าทำเป็นสถานบริการเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะการก่อสร้างที่จะมีขึ้นเกรงจะกระทบต่อโบราณสถานใต้ดิน นอกจากนั้นยังมีหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่คัดค้านการให้เช่าที่ดินผืนเดียวกันให้เป็นสถานบริการของเอกชน เนื่องจากความไม่เหมาะสม
พระอธิการอานนท์ วิสุทโธ เจ้าอาวาสวัดล่ามช้าง เปิดเผยว่า ที่ดินวัดร้างต้นปูนที่กำลังมีการก่อสร้างปรับปรุงสถานที่อยู่มีขนาดประมาณ 1 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา อยู่ติดกับวัดล่ามช้างต่อมาเทศบาลสร้างถนนซอยคั่น มีความเป็นมาเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับวัดสมัยอดีตเจ้าอาวาสคนก่อนพระครูสิทธิวรเดช ที่ได้อุปถัมภ์ให้เกิดมีโรงเรียนเอกชนชื่อว่าโรงเรียนอนุศึกษา ก่อตั้งโดยนางประไพ ระเบ็ง โดยได้ประสานให้ใช้ที่ดินวัดร้างแห่งนี้ ต่อมาได้สิทธิเช่าจากรมการศาสนาและกลายเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในปัจจุบัน เพื่อทำกิจการโรงเรียนช่วยเหลือเด็กเยาวชนในชุมชนวัดล่ามช้าง จนกระทั่งนางประไพเสียชีวิตและเจ้าอาวาสมรณภาพไป ทายาทผู้รับช่วงไม่ทำกิจการโรงเรียนแล้วและเกิดข่าวว่าได้ขายสิทธิเช่าที่ดินผืนนี้ต่อให้เอกชนเพื่อทำสถานบริการแทน
ชาวบ้านรอบวัด อดีตครู และทางวัดรู้สึกกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะวัดล่ามช้างตั้งอยู่กลางเวียงเชียงใหม่เยื้องกับวัดเชียงมั่น สถานที่ที่พญามังรายก่อสร้างเมืองแห่งแรก มีโบราณสถานเกี่ยวข้องมาแต่ยุคนั้น อย่างวัดร้างต้นปูนตำนานบอกว่าเป็นที่หล่อปูนเพื่อก่อสร้างตั้งเมือง เป็นซอยที่มีนักท่องเที่ยวเข้าออกเชื่อมระหว่างประตูท่าแพกับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์บรรยากาศคล้ายกับย่านถนนข้าวสารที่กรุงเทพฯ ทำให้ที่ดินมีราคาแพงมาก อย่างเช่น ที่ดินขนาด 4 ไร่ด้านหลังวัด มีผู้เสนอขายให้กับโรงเรียนยุพราชถึง 90 ล้านบาท พื้นที่วัดร้างที่เคยเป็นโรงเรียนอนุศึกษาขนาดเกือบ 2 ไร่ มีมูลค่าตลาดสูงมากหลายสิบล้าน เพราะอยู่ใจกลางย่านนักท่องเที่ยวจึงไม่แปลกที่มีข่าวว่าทายาทเจ้าของโรงเรียนที่ยังถือสิทธิ์ในการเช่าที่ดินจึงคิดจะขายช่วงต่อให้เอกชนแปรโรงเรียนเป็นสถานที่บริการรับนักท่องเที่ยวแทน
“เมื่อปีก่อนโน้นโยมผู้รับช่วงกิจการเคยมาหาอาตมาเสนอขายสิทธิ์ที่ดินโรงเรียนราคา 8 ล้านบาทแต่อาตมาปฏิเสธเพราะทราบว่าเป็นที่ดินวัดร้างที่สุดต้องคืนให้รัฐบาลมาจัดการ แล้วก็ทราบว่าเขาเสนอขายสิทธิ์ไปยังคนอื่นอีกราคาเพิ่มเป็น 10 ล้าน 16 ล้าน ซึ่งอาตมาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง” เจ้าอาวาสวัดล่ามช้างกล่าวตอนหนึ่ง
นายมานิตย์ ขันธสีมา อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุศึกษาซึ่งเคยทำงานร่วมกับอดีตเจ้าของกิจการมายาวนานให้ข้อมูลต่อว่า ทายาทเจ้าของกิจการที่รับช่วงมาไม่มีเจตนาจะทำโรงเรียนเพื่อให้บริการชุมชน ที่ดินของวัดเป็นที่หลวงหากให้เช่าก็ควรเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เมื่อเลิกทำโรงเรียนแล้วก็ควรจะคืนกลับให้หลวงกลายเป็นที่วัดร้างเหมือนเดิม แล้วก็มอบให้วัดที่เป็นผู้ดูแลแต่เดิมคือวัดล่ามช้าง กับสำนักงานพระพุทธศาสนาร่วมกันคิดว่าจะปรับใช้แบบไหนที่ให้ประโยชน์สูงสุดต่อทั้งรัฐบาลและชาวบ้าน เพราะอัตราค่าเช่าที่ดินวัดร้างตามระเบียบสำนักพุทธฯถูกมาก สมัยก่อนโน้นเรียนอนุศึกษาเสียค่าเช่าปีละประมาณ 975 บาท แล้วก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงประมาณปีละ 6 หมื่นบาท แต่หากใช้อัตรานี้ให้เอกชนเช่าทำสถานบริการเช่นร้านอาหารเกสต์เฮาส์รับนักท่องเที่ยวถือว่าถูกแสนถูกเพราะที่ดินรอบๆ ไร่ละหลายสิบล้านแล้ว รัฐจะเสียประโยชน์ แถมชาวบ้านและวัดก็จะเดือดร้อน ตนนั้นได้ทำหนังสือส่วนตัวถึง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดไปแล้วด้วยแต่ไม่มีคำตอบมาแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวได้สำรวจที่ดินวัดร้างที่เคยเป็นโรงเรียนอนุศึกษา พบว่าปัจจุบันปิดประตูไม่ให้คนภายนอกเข้า มองเข้าไปมีคนงานก่อสร้างกำลังปรับสภาพพื้นที่ ดัดแปลงอาคารและมีโครงเหล็กเพื่อจะก่อสร้างขนาดใหญ่ตั้งอยู่
ต่อมาผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประจำจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้อำนวยการและขอข้อมูลการบริหารจัดการที่ดินวัดร้างในเชียงใหม่ ซึ่งมีมาก 900 กว่าแห่ง เคยมีข่าวว่าทำรายได้ค่าเช่าได้ปีละ 5-6 ล้านบาทว่าได้มีระบบการจำแนกที่ดินแต่ละแบบอย่างไร กรณีที่ดินซึ่งเคยให้สิทธิ์เช่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น ทำโรงเรียนต่อมาเลิกกิจการ ผู้ครองสิทธิ์สามารถให้คนอื่นเช่าต่อโดยเปลี่ยนวัตถุประสงค์ได้หรือไม่ และที่ดินทำเลทองมีการปรับอัตราค่าเช่าหรือไม่อย่างไร แต่ปรากฏว่ายังไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด