เชียงราย - เขียงหมูรายย่อยเมืองเชียงรายครวญ ถูกทุนใหญ่ทุ่มตลาด ส่งคนติดต่อขายหมูพร้อมบริการชำแหละจนยอดขายหาย-กำไรหด บอกส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แต่ก่อนแต่ละรายฆ่าหมู 3 ตัวขายเกลี้ยง ปีนี้กลับเหลือบานเบอะ
วันนี้ (6 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงรายว่า บรรดาเขียงหมูตามตลาดในตัวเมืองเชียงรายกำลังประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากยอดขายลดลงทุกวัน เพราะถูกกลุ่มทุนใหญ่ที่มีชื่อเสียงคุ้นหูคนไทยทำตลาดตรงกับผู้บริโภครายใหญ่ ตลอดจนหน่วยงานที่ต้องการใช้เนื้อหมูประกอบอาหารงานเลี้ยง เสนอขายเนื้อหมูพร้อมบริการอย่างดีในราคาถูก ทำให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ หันไปซื้อเนื้อหมูจากกลุ่มทุนใหญ่แทนการซื้อจากพ่อค้าแม่ค้าในเขียงหมูท้องถิ่น
นางลัดดา ชื่นชม ตัวแทนกลุ่มเขียงหมูตลาดสดเทศบาล 1 เทศบาลนครเชียงราย กล่าวว่า ตอนนี้เขียงหมูชุมชนท้องถิ่นขายได้น้อยมาก สาเหตุหลักมาจากการเข้ามาตีตลาดของกลุ่มทุนใหญ่ ลูกค้าที่เคยมาซื้อเนื้อหมูเพื่อนำไปปรุงอาหาร หรือทำหมูกระทะเลี้ยงฉลอง ก็งดสั่งซื้อจากเขียงหมูท้องถิ่น หันไปซื้อหมูกระทะสำเร็จรูปของกลุ่มทุนใหญ่ที่ชำแหละบางหรือสไลซ์เนื้อหมูใส่บรรจุภัณฑ์แทน
โดยกลุ่มทุนใหญ่มีฟาร์มขนาดใหญ่ สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำกว่า และยังชำแหละใส่บรรจุภัณฑ์ให้ลูกค้าได้อีกด้วย ซึ่งเมื่อลูกค้าเห็นว่าราคาถูกและได้รับความสะดวกมากกว่าจึงไปหาซื้อมาบริโภคแทน รวมทั้งปัจจุบันกลุ่มทุนใหญ่ได้สร้างห้องเย็นบรรจุผลิตภัณฑ์กระจายสินค้าอยู่ในเขต อ.เมือง ทำให้ผู้ค้าท้องถิ่นถูกตีตลาดอย่างหนัก
“หมูสไลซ์เขาขายกิโลกรัมละประมาณ 100 บาท ส่วนของเขียงหมูท้องถิ่น 140 บาท หรือถ้าขายส่งก็ต้องขายกิโลกรัมละ 130 บาท เพราะราคาหมู่หน้าโรงฆ่าสัตว์ตกกิโลกรัมละ 60-70 บาทแล้ว ทำให้เราลดราคาสู้ทุนใหญ่ไม่ได้ ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อหมูของกลุ่มทุนใหญ่กันหมด”
นางลัดดากล่าวว่า แม้แต่ตามโรงเรียนที่ซื้อเนื้อหมูจากเขียงหมูท้องถิ่น โรงเรียนละ 30-40 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อนำไปทำอาหารกลางวัน ก็หันไปซื้อจากกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้จนหมด ทำให้ยอดขายของเขียงหมูท้องถิ่น โดยเฉพาะตลาดเทศบาลนครเชียงรายลดลงกว่าครึ่ง เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ เดิมเขียงหมูรายหนึ่งเคยขายได้วันละไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม โดยเฉพาะวันที่ 31 ธ.ค.-1 ม.ค. หรือเฉลี่ยตลอดช่วงแต่ละรายจะใช้หมู 3 ตัว แต่ปรากฏว่าปีใหม่ปีนี้ขายไม่หมด ยังเหลือให้ชำแหละขายต่อหลังปีใหม่กันทุกราย
“ตอนนี้เขียงหมูรายย่อยท้องถิ่นทำได้แค่พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ ด้วยการขายให้ลูกค้าประจำ และผู้ซื้อรายย่อยในชุมชนเท่านั้น”