เชียงราย - กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน “จีน-ลาว-พม่า-ไทย” เปิดเวทีเวิร์กชอป “แม่น้ำโขงปลอดภัย” จับมือปราบยาเสพติด ชี้สถานการณ์หนักสุดในรอบครึ่งทศวรรษ พร้อมลงมติตั้งกองอำนวยการร่วม 4 ชาติที่เชียงใหม่ เริ่มมกราคม ปีหน้า
วันนี้ (11 ธ.ค.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อตกลงแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย จีน ลาว พม่า ไทย 2014 ขึ้นที่ห้องประชุมเชียงรุ้ง โรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมืองเชียงราย
โดยนายเพิ่มพงษ์ ชวลิตร เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ของไทย และนายวิชัย ไชยมงคล ผอ.ป.ป.ส.ภาค 5 นำคณะเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส., ทหารกองกำลังผาเมือง ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปส.) ฯลฯ เข้าร่วมหารือกับ พ.ต.ท. Shwe Nhwe Maung ผู้บัญชาการสำนักงานเมืองตองจี ประเทศพม่า ท่านบุนพอน สิริวง ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ ป.ป.ส. สปป.ลาว และนายหวัง ฮองหยู ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง สป.จีน
ที่ประชุมได้หารือกันถึงสถานการณ์ยาเสพติด รวมทั้งมาตรการป้องกัน และปราบปรามของประเทศต่างๆ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งตัวแทนแต่ละประเทศต่างแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ยาเสพติดของแต่ละประเทศล้วนมีความเกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบต่อกัน
นายเพิ่มพงษ์กล่าวว่า ผลกระทบจากปัญหายาเสพติดไม่ได้เกิดต่อประเทศไทยฝ่ายเดียว แต่กระจายไปในทุกประเทศ และในการประชุมคณะรัฐมนตรีอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซียก็เห็นพ้องกันว่า สถานการณ์ในอาเซียนรุนแรงมากที่สุดในรอบ 5-6 ปีเลยทีเดียว ดังนั้นจึงควรร่วมมือกันมากกว่าต่างฝ่ายต่างแก้ไขภายในประเทศของตน
ซึ่งกรณีของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 4 ชาติครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่มติของคณะรัฐมนตรีอาเซียนดังกล่าว โดยใช้เวลาหารือครั้งนี้เริ่มต้น 2 วัน คือวันที่ 11-12 ธ.ค. เนื้อหาเป็นการหารือในรายละเอียด โดยวันที่ 12 ธ.ค.จะเป็นการศึกษาดูงานสถานที่จริงในแม่น้ำโขงจาก อ.เชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคำ สปป.ลาว และพม่า ช่วงสั้นๆ หากข้อหารือติดขัดระเบียบของประเทศใดก็ให้กลับไปแจ้งรัฐบาลของตนเพื่อจะได้แก้ไขร่วมกันต่อไป
“การผลิตยาเสพติดเกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสารตั้งต้น และตัวยาเสพติดที่ผลิตแล้ว ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับหลายประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องร่วมกัน ถ้าแยกกันทำ โอกาสจะทำได้นั้นยากยิ่ง”
นายเพิ่มพงษ์กล่าวอีกว่า การหารือกันครั้งนี้มีเป้าหมายสร้างแผนปฏิบัติการ และกำหนดรูปแบบการทำงานร่วมกัน เบื้องต้นจะเป็นการตั้งกองอำนวยการร่วม 4 ชาติก่อน และหลายฝ่ายก็เห็นพ้องให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยอาจจะใช้เชียงใหม่เป็นศูนย์อำนวยการ และมีผู้แทนจาก 4 ชาติเข้าร่วมพร้อมกัน การปฏิบัติการจะเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 58 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
นายเพิ่มพงษ์กล่าวอีกว่า จากนี้ไปศูนย์ฯ จะมีการหารือและออกมาตรการอย่างต่อเนื่องเป็นช่วงๆ เบื้องต้นอาจหารือทุก 2 เดือน ส่วนกรอบความร่วมมือในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกองเรือลาดตระเวนของจีน สปป.ลาว และพม่า และการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) ของไทย ก็สามารถเข้าร่วมในมาตรการที่จะกำหนดออกมาได้
ทั้งนี้ ตามข้อมูลด้านการข่าว แหล่งผลิตยาเสพติดส่วนใหญ่ถูกระบุว่าอยู่ในเขตรัฐฉานตอนเหนือ รัฐฉานตะวันตก และรัฐฉานใต้ ตั้งแต่ชายแดนพม่า-จีน จดชายแดนประเทศไทยด้าน จ.เชียงราย เชียงใหม่ ไม่น้อยกว่า 11 แห่ง อยู่ในรัฐฉานเหนือ เลียบแม่น้ำโขงชายแดนพม่า-สปป.ลาว จนถึงชายแดนจีน จำนวน 6 แห่ง รัฐฉานตะวันตกตรงข้าม จ.เชียงราย จำนวน 2 แห่ง และรัฐฉานใต้ตรงข้าม จ.เชียงใหม่ เชื่อมกับ จ.เชียงราย อีก 3 แห่ง โดยมีชนกลุ่มน้อยในพม่า ทั้งว้าแดง มูเซอ ไทใหญ่ โกกั้ง ม้ง อาข่า ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธดูแลแหล่งผลิตอยู่
แต่โรงงานผลิตใหญ่ๆ จะอยู่ในเขตเมืองปางซาง เขตอิทธิพลของว้าใกล้ชายแดนพม่า-จีน และมีการขนส่งสารตั้งต้นเพื่อการผลิตมาจากประเทศอินเดีย และไทย จากนั้นขนลงมายังเมืองยอนของว้าตอนใต้ กระจายไปยังโรงงานเพื่อตีตราเป็นยี่ห้อของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มมูเซอ “ปูนาโก่” เขตเมืองตูม จ.เมืองสาด ตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย, โรงงานบ้านน้ำโป่งหรือน้ำปุ๋ง ตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง ขณะที่ตะเข็บชายแดนมีแหล่งพักที่อยู่ในฝั่งพม่า 14 แห่ง, เขต สปป.ลาว 7 แห่ง, ฝั่งไทยด้าน จ.เชียงราย จำนวน 12 แห่ง
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาขบวนการค้ายาเสพติดยังส่งผลกระทบต่อการเดินเรือสินค้าของจีน โดยเมื่อปลายปี 2554 เคยก่อเหตุปล้นเรือสินค้าจีนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ 2 ลำ และฆ่าลูกเรือรวม 13 ศพ บนเรือพบยาบ้า 920,000 เม็ด ทำให้ทางจีนผลักดันให้ 4 ชาติลุ่มน้ำโขงตั้งกองกำลังลาดตระเวนร่วมโดยวิทยาการ เรือแม่น้้ำโขง การฝึกอบรม ให้กับพม่า และ สปป.ลาว ส่วนไทยตั้งเป็น ศปปข.ส่วนหน้า อ.เชียงแสน มีสำนักงานอยู่ที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1