บุรีรัมย์ - จังหวัดบุรีรัมย์แถลงข่าวจัดงานกาชาดและไหมบุรีรัมย์ ประจำปี 12-22 ธ.ค.นี้อย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา พร้อมจัดงานมหกรรม “งามเสน่ห์ไหมบุรีรัมย์ มหัศจรรย์ใต้ฟ้าพระบารมี” ชมการแสดงแสง สี เสียง ตำนานไหมบุรีรัมย์ การแสดงแบบผ้าไหม เลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์โอทอป
วันนี้ (25 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องโถงข้างห้องประชุมเมืองแปะ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยนางสุวิมล ศรีหะไตร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดบุรีรัมย์ และนายกมล เรืองสุขศรีวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ ร่วมกันแถลงข่าวจัดงานกาชาดและไหมบุรีรัมย์ ประจำปี 2557 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 12-22 ธ.ค. 57 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ (หลังเก่า)
โดยในปีนี้จะจัดอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมาและมีการจัดมหกรรมไหมบุรีรัมย์ ทั้งนี้ เพื่อจัดหารายได้ให้สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดบุรีรัมย์ใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมอาชีพและรายได้ ผลิตภัณฑ์ OTOP และเผยแพร่ผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดบุรีรัมย์
กิจกรรมภายในงาน นอกจากจะมีการออกร้านมัจฉากาชาด การจัดนิทรรศการของส่วนราชการ การแสดงต่างๆ และการจำหน่ายสินค้าราคาถูกแล้ว ยังเน้นการจัดงานมหกรรมไหม เพื่อเผยแพร่ผ้าไหมบุรีรัมย์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้ ยังมีการประกวดผ้าไหม ชมขบวนแห่วัฒนธรรมและไหม 4 เมือง ได้แก่ เมืองแปะ เมืองนางรอง เมืองตะลุง (ประโคนชัย) และเมืองพุทไธสง การจัดแสดงนิทรรศการ “งามเสน่ห์ไหมบุรีรัมย์ มหัศจรรย์ใต้ฟ้าพระบารมี” การแสดงแบบผ้าไหมการกุศล การแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไหมบุรีรัมย์ และผลิตภัณฑ์ OTOP การแข่งขันเซปักตะกร้อ และแข่งขันชกมวยไทย โดยในพิธีเปิดงานจะมีการแสดงแบบผ้าไหมโดยผู้แสดงแบบกิตติมศักดิ์มากมาย และการแสดงแสง สี เสียง ตำนานไหมบุรีรัมย์อีกด้วย
นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า งานกาชาดและงานไหมบุรีรัมย์ ในปีนี้จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปี โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการ “งามเสน่ห์ไหมบุรีรัมย์ มหัศจรรย์ใต้ฟ้าพระบารมี” เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์ไหมบุรีรัมย์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย พร้อมยกระดับไหมบุรีรัมย์เตรียมรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งผ้าไหมบุรีรัมย์ถือเป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ของประเทศ ในแต่ละปีผ้าไหมทำรายได้เข้าสู่จังหวัดปีละหลายร้อยล้านบาท
ดังนั้น การพัฒนา ยกระดับผู้ผลิตผ้าไหมจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ประชาชนชาวบุรีรัมย์มีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าไหมบุรีรัมย์ให้สืบทอดต่อไปอีกด้วย