ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านลืออาถรรพ์วัดเขาชีจรรย์ หลังเจ้าอาวาสทยอยมรณภาพ เชื่อประตูวัดสร้างกลางทางสามแพร่ง ติดเมรุ และสถูปเก็บกระดูก กับกุฏิเจ้าอาวาสที่สร้างสูงกว่าพระประธานโบสถ์ ทับเส้นทางผีผ่าน จนเป็นที่มาของอาเพศ เจ้าอาวาสรูปที่ 5 สั่งปิดประตู ปิดกุฏิแก้เคล็ดตามเจตนารมณ์ญาติโยม
วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวเปิดเผยว่า หลังจากมีชาวบ้านในชุมชนเขาชีจรรย์ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กล่าวขานถึงความอาถรรพ์ของประตูวัดเขาชีจรรย์ และกุฏิเจ้าอาวาสที่ก่อสร้างอยู่ในจุดทางสามแพร่ง หรือทางผีผ่านจนเกิดอาเพศ ทำให้เจ้าอาวาสทยอยกันมรณภาพ ทำให้เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ต้องปิดประตูวัดให้ญาติโยมไปใช้ประตูอื่น และย้ายกุฏิใหม่ ทิ้งกุฏิเก่าให้รกร้าง
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ลักษณะวัดเป็นไปตามที่มีผู้คนกล่าวถึง โดยประตูทางเข้าวัดที่ว่าเป็นอาถรรพ์อยู่ด้านทิศตะวันตก ติดกับเมรุ และสถูปเก็บกระดูก ติดกับถนนสายหลักระหว่างโค้งทางสามแพร่งประจวบเหมาะพอดี ส่วนกุฏิเจ้าอาวาสหลังเก่า เป็นลักษณะ 3 ชั้น สร้างสูงกว่าโบสถ์ ตั้งตระหง่านอยู่กลางวัดพุ่งตรงกับประตูทางเข้าพอดีเช่นกัน
พระองอาจ สุพกิจโจ อายุ 40 ปี เจ้าอาวาสวัดเขาชีจรรย์ เปิดเผยว่า วัดแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2513 โดยมี พระอาจารย์สวัสดิ์ จันทสาโร เป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปแรก ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 21 ไร่เศษ สร้างโบสถ์ขึ้นในปี 2519 และยกช่อฟ้าในปี 2530 โดยโครงสร้างต่างๆ ในวัดได้มีการก่อสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยนั้น จนมาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน อาตมาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 5 ส่วนรูปที่ 1-3 ได้อาพาธ และมรณภาพลง ส่วนรูปที่ 4 จู่ๆ ก็ขอลาสิกขากลางคัน จนเป็นที่ร่ำลือของชาวบ้านว่า เกิดจากอาถรรพ์ประตูวัดที่ติดกับเมรุ สถูปเก็บกระดูก เมื่อใครผ่านไปผ่านมาก็รู้สึกไม่เป็นมงคล ทำให้ถูกมองว่าเป็นประตูมรณะ ประกอบกับกุฏิเจ้าอาวาสที่สร้างสูงกว่าโบสถ์ เมื่อจำวัดก็จะนอนสูงกว่าพระประธานในโบสถ์ ทำให้เกิดอาเพศขึ้นจนเจ้าอาวาสต้องมีอันเป็นไป
โดยส่วนตัวอาตมาก็มีความเชื่อในเรื่องนี้อยู่บ้าง ประกอบกับไม่อยากขัดเจตนารมณ์ของญาติโยม จึงแก้เคล็ดด้วยการปิดประตูวัดฝั่งตะวันตก พร้อมติดป้ายบอกว่าประตูนี้ คือ ประตูหลังวัด ให้เข้า-ออกประตูหน้าวัดฝั่งตะวันออกประตูเดียว ส่วนกุฏิเจ้าอาวาสหลังเก่าได้ถูกปิดตาย ย้ายมาอยู่กุฏิหลังใหม่ชั้นเดียว ใกล้กับกุฏิพระลูกวัด ซึ่งยอมรับว่าอาตมาเคยคิดจะบูรณะแก้ไข ปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามหลักความเชื่อ หรือฮวงจุ้ย แต่ด้วยสภาวะที่วัดอยู่ในถิ่นทุรกันดาร มีประชากรอยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน ทำให้วัดไม่มีรายได้ในการที่จะซ่อมแซมบูรณะใหม่ จึงต้องอยู่กันตามวิถีที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะหาข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดไม่ได้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก็ยังคงเชื่อในอาถรรพ์ของประตูวัดที่ถูกสร้างขึ้นในจุดที่ไม่เป็นมงคลติดเมรุ อยู่ระหว่างกลางทางสามแพร่ง รวมถึงกุฏิเจ้าอาวาส ที่ออกแบบก่อสร้างสูงกว่าพระประธานในโบสถ์ ที่เชื่อว่าหากยังไม่มีการแก้ไขอาถรรพ์ก็จะยังคงอยู่อย่างนี้ตลอดไป