ศูนย์ข่าวศรีราชา - สำนักพัฒนานวัตกรรม ม.บูรพา ทำพิธีลงนามความร่วมมือกับ 4 บริษัทเอกชน ก่อนลงทุนร่วมกันเพื่อศึกษารายละเอียดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดสินค้า และทรัพยากรที่ใช้เป็นวัตถุดิบให้มีคุณภาพจนสามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาด หวังยกระดับธุรกิจส่วนภูมิภาคให้ได้มาตรฐาน ตรงต่อความต้องการของตลาดทั้งใน และต่างประเทศ
วันนี้ (18 พ.ย.) สำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา (BUU INNOPOLIS) ได้จัดให้มีพิธีลงนามความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัทเอกชน 4 แห่ง เพื่อโครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจร่วมกันในการต่อยอดผลิตภัณฑ์และยกระดับทรัพยากรท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วย บริษัท ดำน้ำ ดอทคอม จำกัด บริษัท ตรีเพชรฟาร์ม จำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ไม้เด็ด) และวิสาหกิจชุมชน ไผ่ทองคำ โดยมี ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นประธานในพิธี และมี ดร.พิชัย สนแจ้ง รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวรายงานที่มาของการลงนามในครั้งนี้ ซึ่งพิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่ห้องประชุม 903 อาคาร ภปร.มหาวิทยาลัยบูรพา
ดร.พิชัย กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นภายใต้เป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์และทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านนวัตกรรม และการยกระดับสินค้าให้ได้รับการพัฒนาทั้งระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน และการเก็บรักษาสินค้าให้ได้ยาวนาน ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดได้ในอนาคต
โดยสำนักพัฒนานวัตกรรม ได้กำหนดทิศทางนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคไว้ 5 ประเด็น คือ 1.ด้านอาหาร โดยเน้นอาหารทะเล และการเกษตรอินทรีย์ 2.ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร การผลิตน้ำสะอาด ตลอดจนการบำบัดน้ำเสีย 3.ด้านการผลิตพลังงานทางเลือกไฮโดรเจนจากสาหร่าย Butanot จากกากน้ำตาล พลังงานแสงอาทิตย์ แบตเตอรี่คุณภาพสูง ตลอดจนการให้คำปรึกษาในการประหยัดพลังงาน 4.อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เทคโนโลยีไม้ไผ่ อัญมณี ฯลฯ และ 5.ด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์การเกษตร เทคโนโลยีผู้สูงอายุและผู้พิการ
ขณะที่การทำข้อตกลงร่วมกับ บริษัทตรีเพชรฟาร์ม จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจฟาร์มเพาะฟักและอนุบาลกุ้งทะเลในจังหวัดภูเก็ต เป็นการวิจัยนวัตกรรมเพื่อต่อยอดการพัฒนาพ่อ-แม่พันธุ์กุ้ง ให้ได้สายพันธุ์ที่แข็งแรง และให้ลูกกุ้งที่มีปริมาณมาก ซึ่งในอนาคตมหาวิทยาลัยบูรพา ยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาศูนย์ผลิตพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กุ้งในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย
ส่วนการทำข้อตกลงร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนไผ่ทองคำ เป็นการใช้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ในประเทศจีน ในการร่วมพัฒนาผลผลิตจากไม้ไผ่ตั้งแต่ราก จนถึงเนื้อเยื้อเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่หลากหลาย และยังมีแนวคิดที่จะร่วมกันจัดทำศูนย์นวัตกรรมวิจัยด้านไผ่ในประเทศร่วมกันระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย และวิสาหกิจชุมชนไผ่ทองคำ
ขณะที่ข้อตกลงร่วมกับ หจก.ไม้เด็ด เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน และคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ในการวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ทะเลที่ได้คุณภาพ และมีมูลค่าทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น
เช่นเดียวกับการทำข้อตกลงกับ บริษัท ดำน้ำ ดอทคอม จำกัด ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเล ในการต่อยอดบุคลากร และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานใต้ทะเล และคิดค้นเครื่องมือที่จะทำงาน และสำรวจใต้ทะเลร่วมกัน