ศูนย์เชียงใหม่ - ชุมชน ชาวบ้านวัดเกตุการามร่วมแรงร่วมใจรื้อฟื้นประเพณี “ล่องสะเปาลอยเคราะห์” ที่หายไปจากเมืองล้านนาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นประเพณีที่อนุชนรุ่นหลังควรเรียนรู้และรักษาไว้
หลังจากการลอยกระทงทั้งเล็กและใหญ่ ซึ่งถือเป็นประเพณียี่เป็งของเชียงใหม่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังมีอีกประเพณีหนึ่งที่มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่และทำกันหลังยี่เป็งกระทงใหญ่ผ่านไปแล้ว โดยคืนวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา บริเวณลานวัดเกตุการาม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ชุมชนชาววัดเกตุได้ร่วมกันรื้อฟื้นประเพณี “ล่องสะเปาลอยเคราะห์” ที่ว่ากันว่าไม่ได้ทำนานแล้วตั้งแต่ก่อนสงครามครั้งที่ 2 โดยชาวบ้านวัดเกตุช่วยกันทำสะเปา (เรือสำเภา) หลวง สะเปาคำ (เรือทองคำ) และสะเปาเงิน (เรือเงิน) พร้อมกับทำพิธีบ่เก่าโดยพระสงฆ์และปู่อาจารย์ และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันทำบุญ และร่วมบริจาคเสื้อผ้า และปัจจัยบริจาคเพื่อเป็นการทำบุญลอยเคราะห์ทุกข์โศก ในโอกาสวันยี่เป็งของชาวล้านนา
ลุงอนันต์ ฤทธิเดช หลานของนายเรือหางแมงป่องคนสุดท้าย พี่ชายของลุงหวังที่ดูแลพิพิธภัณฑ์วัดเกตุฯ เล่าว่า ประเพณีล่องสะเปาชาววัดเกตุนี้ห่างหายไปกว่า 80 ปี ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับพิธีล่องสะเปาลอยเคราะห์ของชาวบ้านและชุมชนวัดเกตุนั้น มีความสัมพันธ์กับแม่น้ำปิงอย่างมาก เพราะในอดีตชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำปิง เช่น การค้าขาย, การชำระล้างร่างกาย และทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนที่รถไฟจะมีบทบาทมากขึ้นในเวลาต่อมา
ก่อนเริ่มทำพิธีมีการแสดงศิลปะพื้นเมืองจากกลุ่มหนุ่ม-สาวของชาววัดเกตุการาม ที่มาร่วมแสดงเพื่อถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมของชาวล้านนา ที่มีความสัมพันธ์กับแม่น้ำปิงที่ผ่านมา เพื่อให้ชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาร่วมพิธีได้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวล้านนา เมื่อการแสดงเสร็จสิ้นจะเป็นการทำพิธี “เทศน์อานิสงส์ล่องสะเปา” 1 กัณฑ์ และทำการเวนทานเคราะห์แบบเมืองเหนือ เพื่อเป็นการรำลึกถึงญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว และการขอขมาแม่พระคงคา เมื่อถึงเวลา 20.00 น.มีการแห่กลองหลวงสะเปาหลวง สะเปาคำ สะเปาเงิน ออกจากวัดเกตุฯ และแห่ไปตามถนนโดยรอบโดยสิ้นสุดที่ท่าน้ำตรงข้ามกับวัดเกตุฯ พอดี ซึ่งเมื่อถึงท่าน้ำชาวบ้านจะช่วยกันยกสะเปาทั้ง 3 ลำลงแม่น้ำปิง
ทั้งนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าการล่องสะเปา (เรือสำเภา) ลอยเคราะห์ในวันยี่เป็งเป็นการปล่อยเคราะห์ ทุกข์ โศก โรคต่างๆ ไปตามแม่น้ำปิง และเป็นการขอขมาแม่พระคงคาที่ใช้ดื่มกินมาตลอดทั้งปี ชาวบ้านจะนำของกินของใช้ปัจจัยใส่เข้าไปในสะเปา เพื่อเป็นการอุทิศให้ญาติมิตรที่ล่วงลับได้ใช้ได้กินในต่างภพ และถือเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้ ที่จะเก็บของบริจาคนำไปใช้ต่อ
เรือสะเปา หรือเรือสำเภามีทั้งหมด 3 ลำ ลำแรกเรือสะเปาหลวง (สะเปาลอยเคราะห์) เป็นเรือที่ใช้ขอขมาแม่พระคงคา เรือสะเปาลำที่ 2 เรือสะเปาเงิน หมายถึง การทำมาค้าขาย และหน้าที่การงาน ส่วนเรือสะเปาลำที่ 3 สะเปาคำ หมายถึง การอยู่ดีมีสุข ไร้โรคภัยไข้เจ็บสุขกายสบายใจ สำหรับสิ่งของที่จะนำใส่สะเปานั้น จะเป็นเสื้อผ้า 1 ชุด, ข้าวสารอาหารแห้ง, ปัจจัยบริจาคตามแต่ศรัทธา