อุบลราชธานี - นายกเทศมนตรีและนายก อบต. 2 อำเภอที่ถูกน้ำจากลำน้ำโดมใหญ่ไหลท่วมติดต่อกันมา 3 ปี ตบเท้ายื่นหนังสือผู้ว่าฯอุบลราชธานี ช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยให้บริหารจัดการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับพื้นที่ทุกปี สร้างแก้มลิงใช้เป็นที่รองรับน้ำ ด้านสำนักงานชลประทานจังหวัดแจง อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบใช้แก้ปัญหาระยะยาวไว้แล้ว
วันนี้ (29 ต.ค.) ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายสุเวช จันทร์จิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร พร้อมกับนายกเทศบาลตำบล และ อบต. 4 แห่งในพื้นที่ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.นาเยีย ซึ่งแม่น้ำลำโดมใหญ่ไหลผ่าน เข้ายื่นหนังสือถึงนายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและตลิ่งพัง
โดยระบุว่า ตั้งแต่ปี 2555-2557 พื้นที่ที่อยู่ติดลำน้ำลำโดมใหญ่ได้รับผลกระทบถูกน้ำล้นตลิ่งไหลท่วม ทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้างหลายหมื่นไร่อย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำ ไม่มีการทำแก้มลิงรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก และการก่อสร้างฝายกั้นน้ำลำโดมใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ก็ทำให้ปิดกั้นทางน้ำจนเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก
จึงต้องการให้สำนักงานชลประทานจังหวัดที่เป็นเจ้าของฝายลำโดมใหญ่มีการบริหารการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยขอให้เปิดประตูระบายน้ำตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.-พ.ย.ของทุกปี เพื่อระบายน้ำออกในช่วงฤดูฝน และหลังจากนั้นให้ปิดประตูกักเก็บน้ำไว้ใช้ พร้อมให้ทำบานประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วย
ต่อมาได้รับคำชี้แจงจากนายวิทวัฒน์ วันทนียกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานจังหวัดว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำลำโดมใหญ่ ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการตั้งคณะกรรมการมาดูแล เนื่องจากการเปิดหรือปิดประตูระบายน้ำฝายลำโดมใหญ่ที่ไหลผ่านหลายอำเภอจะมีผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำทำเกษตรกรรมและใช้สอยหลายอำเภอ
คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำลำโดมใหญ่จะทำการประชุมกันในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ซึ่งกลุ่มนายกเทศมนตรีและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่มายื่นหนังสือ ต้องเข้าร่วมเป็นกรรมการให้ข้อมูลและตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำด้วย
ส่วนการสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีก ต้องทำเป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้งบประมาณจำนวนมากและใช้เวลาก่อสร้างนานหลายปี แต่ขณะนี้สำนักงานชลประทานจังหวัดมีการศึกษาทำเป็นอาคารผันน้ำหรือวางท่อระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำออกเวลามีน้ำเกินความจำเป็น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ
สำหรับการจัดทำแก้มลิงในพื้นที่บ้านแก่งโพธิ์เพื่อใช้รองรับน้ำในฤดูน้ำหลากก็อยู่ในแผนดำเนินการของสำนักงานชลประทานเพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้ว แต่ระหว่างนี้จะทำการขุดลอกแม่น้ำในจุดที่ตื้นเขินไปก่อน
ส่วนการแก้ปัญหาตลิ่งทรุดตัวต้องหารือกับกรมเจ้าท่าที่เป็นเจ้าของพื้นที่เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน หลังได้รับการชี้แจงทำให้กลุ่มนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลและนายก อบต.พอใจจึงพากันเดินทางกลับและรอเข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่สองอำเภอนี้ต่อไป