เลย-ชาวนาหัวใส ดัดแปลงแนวคิดการทำตุ้มจับปูจากรุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ โดยใช้ตะกร้าเล็กมาประดิษฐ์แทนการจักสาน ต้นทุนต่ำแถมใช้เวลาทำรวดเร็วกว่า ออกวางตุ้มแต่ละคืนได้ปูนาจำนวนมาก ส่งขายตลาด สร้างรายได้เสริมหลายร้อยบาทต่อวัน
ในช่วงต้นฤดูหนาวเป็นช่วงข้าวที่ตั้งท้องกำลังเริ่มออกรวง สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในนาข้าว เช่น ปู ปลา เจริญเติบโตเต็มที่ และมีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะ “ปูนา” ทำให้ชาวบ้านที่ทำนาข้าวออกจับปู ปลาตามนาข้าวเพื่อประกอบอาหาร และหากเหลือมากพอก็นำไปขายให้เพื่อนบ้านหรือขายที่ตลาด
แต่มีชาวบ้านใน ต.นาอาน อ.เมือง จ.เลย ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่จะจับปูนาขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยใช้ชื่อว่า “ตุ้มจับปู” สามารถจับปูในแต่ละวันได้จำนวนมากเป็นพิเศษ จนสร้างรายได้จากการขายปูนาวันละหลายร้อยบาท
ตุ้มจับปู เป็นเครื่องจับสัตว์ชนิดหนึ่งที่ดัดแปลงมาจากไซดักปลาของคนสมัยก่อน ใช้วิธีจักสาน แต่ปัจจุบันได้มีผู้คิดที่จะใช้เวลาในการทำตุ้มจับปูให้เร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาหาไม้ไผ่มานั่งจักสานนานๆ โดยการหาวัสดุที่ทันสมัยและมีราคาถูก ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของคนในท้องถิ่น
นายสุรัตน์ ขันทสิทธิ์ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 292 หมู่ 9 ต.นาอาน อ.เมือง จ.เลย เล่าว่า ได้นำแนวคิดประดิษฐ์ตุ้มจับปูดั้งเดิมจากคนเฒ่าคนแก่แถวบ้าน ด้วยการดัดแปลงจากการจักสานเป็นการหาวัสดุง่ายๆ แทน โดยมีตะกร้าเล็ก แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด และเส้นลวด ซึ่งลงทุนไปไม่ถึง 200 บาท ก็ประดิษฐ์ตุ้มจับปลาประยุกต์นับสิบชิ้น
โดยตนจะใช้ช่วงเวลาหลังเลิกงานในการไปวางตุ้มจับปูตามทุ่งนา โดยนำตุ้มจับปูมาประมาณวันละ 20 หลัง เมื่อใส่หรือวางตุ้มปูนาไว้ถึงตอนเช้าวันรุ่งขึ้นก็จะกลับมาเก็บตุ้ม แต่ละวันได้ปูนาประมาณ 3-4 กิโลกรัม นำไปขายส่งแม่ค้าที่ตลาด มีรายได้วันละ 200-300 บาท
“รายได้จากการขายปูเกินคุ้มกับการลงทุนอย่างมาก ประกอบกับช่วงนี้ข้าวกำลังตั้งท้องทำให้ปูนากำลังตัวโตเต็มที่ หลังจากนี้ไม่นานก็ถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว” นายสุรัตน์กล่าว