xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกฎหมายโบราณกำหนดโซนนิ่งโคมลอย โทษจำ-ปรับ/ทำเพลิงไหม้ต้องชดใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เผยประกาศมณฑลพายัพ ร.ศ. 119 ห้ามปล่อยโคมลอย และกำหนดขอบเขตให้ปล่อย มีมาตั้งแต่ร้อยปีก่อน ระบุใครละเมิดมีโทษทั้งจำทั้งปรับ หากทำบ้านเรือนเกิดเพลิงไหม้ ผู้ปล่อยโคมต้องชดใช้

วันนี้ (27 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังธุดงคสถานล้านนา อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จัดงานบุญทอดกฐินล้านนาสามัคคี และพิธีจุดประทีปลอยโคมถวายพุทธบูชา ประจำปี 2557 หรืองานประเพณียี่เป็ง 2557 ยี่เป็งสันทรายถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งมีการปล่อยโคมไฟลอยนับหมื่นดวง จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ทั้งในแง่มุมของความถูกต้องตามจารีตล้านนา และปัญหาเรื่องความสะอาด ตลอดจนความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนชาวบ้านขึ้นได้หากโคมตกใส่

ขณะที่เทศกาลลอยกระทงและยี่เป็งปีนี้ เทศบาลนครเชียงใหม่ประกาศห้ามปล่อยโคมลอย และเข้มงวดการละเล่นประทัด ดอกไม้ไฟ ทั้งนี้ เป็นการห้ามปล่อยโคมลอยในเขตเทศบาลฯ เพราะนอกจากจะเกิดปัญหาเพลิงไหม้แล้ว ยังมีผลกระทบต่อการบินด้วย

“ASTVผู้จัดการออนไลน์” ได้สืบค้นราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 119 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2443 พบว่าในอดีตเคยมีประกาศกำหนดโซนนิ่งปล่อยโคมลอยในเทศกาลของมณฑลพายัพ เพื่อป้องกันปัญหาเพลิงไหม้บ้านเรือนราษฎร นอกจากนั้นยังกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ใดปล่อยโคมลอยทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนผู้อื่นจะต้องชดใช้ตามราคาที่เสียหายอีกด้วย ประกาศเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ข้อความดังนี้ (ข้อความตามต้นฉบับเดิม)

ประกาศอนุญาตสำหรับปล่อยโคมลอย มณฑลพายัพ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ประกาศทราบทั่วกันว่า

๑. ตามความในประกาศลงวันที่ ๗ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ความว่า ถ้ามีการปัจจุบันทันด่วน เมื่อข้าหลวงใหญ่และข้าหลวงยุติธรรมมณฑลพายัพเห็นพร้อมกัน เปนการจำเป็นจะต้องออกกฏหมายนั้นโดยทันที แล้วให้ประกาศเปนกฏหมายใช้ได้โดยทันที แต่กฎหมายเช่นนี้ต้องส่งลงมากรุงเทพฯ เพื่อขอพระราชทานรับพระบรมราชานุญาตภายในกำหนด ๖ เดือน มีความพิสดารแจ้งอยู่แล้ว

๒. บัดนี้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพมีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาความว่า มีมหาชนในมณฑลพายัพเคยปล่อยโคมลอยขึ้นบนอากาศในเวลาเทศกาลต่างๆ กระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนราษฎรเนืองๆ เพราะเหตุว่าผู้ปล่อยโคมลอยคิดจะปล่อยเมื่อใดตำบลใดก็ปล่อยได้ ข้าหลวงใหญ่กับข้าหลวงยุติธรรม ได้ออกประกาศสำหรับปล่อยโคมลอยมีความ ๓ ข้อ ข้าหลวงใหญ่แลข้าหลวงยุติธรรมขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้เปนกฎหมายสืบไป

๓.ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ประกาศซึ่งข้าหลวงใหญ่และข้าหลวงยุติธรรม มณฑลพายัพได้ออกประกาศลงวันที่ ๑ มกราคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ ต่อท้ายประกาศฉบับนี้เปนกฎหมายสืบไป

(ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ประกาศมา ณ วันที่ ๘ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ เป็นวันที่ ๑๑๘๐๕ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

ประกาศสำหรับปล่อยโคมลอยมณฑลพายัพ

พระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงใหญ่ หลวงจรรยายุตกฤตย์ ข้าหลวงยุติธรรมมณฑลพายัพ เห็นพ้องกันว่าการที่มหาชนปล่อยโคมลอยขึ้นบนอากาศในเวลาเทศกาลต่างๆ ในมณฑลพายัพอยู่เนืองๆ นั้น ย่อมกระทำให้บ้านเรือนเกิดเพลิงไหม้เสมอ โดยเหตุที่ปล่อยโคมลอยนึกจะปล่อยที่แห่งใด ตำบลใดก็ปล่อยได้ จึงมีเหตุตามที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นนั้น เพราะเหตุฉะนั้นจึงประกาศให้มหาชนทั้งหลายทุกชาติทุกภาษาซึ่งอยู่ในมณฑลพายัพทราบทั่วกันว่า

ข้อ ๑ ตั้งแต่วันออกประกาศนี้เดือนหนึ่งเปนต้นไป เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดอยากจะปล่อยโคมลอยในเวลาใดเวลาหนึ่ง ก็ปล่อยได้ไม่ห้าม แต่ผู้ที่จะปล่อยโคมลอยนั้นต้องมาขออนุญาตจากแขวงนครหรือเมืองนั้นก่อนจึงจะปล่อยได้

ข้อ ๒ เมื่อมีผู้มาขออนุญาตต่อแขวงว่าจะปล่อยโคมลอยแล้วก็ให้แขวงอนุญาตให้ แต่แขวงจะต้องกะที่ให้ผู้นั้นปล่อยโคมลอยได้ในที่ๆ แขวงเห็นสมควรว่า ที่ปล่อยได้นั้นไม่เปนอันตรายต่อบ้านเรือน

ข้อ ๓ ถ้าผู้ใดปล่อยโคมลอยขึ้นโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตก็ดี หรือปล่อยที่อื่นนอกจากแขวงอนุญาตก็ดี ผู้ที่ปล่อยนั้นมีความผิดถานลเมิด จะต้องปรับเปนเงินพินัยไม่เกินกว่า ๒๐ บาท หรือจำคุกไม่เกินกว่า ๑ เดือน แลถ้าโคมลอยที่ปล่อยนั้นตกลงมาถูกบ้านเรือนฤาเข้าของสิ่งใดผู้ที่ปล่อยนั้นจะต้องใช้ตามราคาของที่เสียมากแลน้อยด้วย

ประกาศมา ณ วันที่ ๑ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๗ น่า ๗๓๖ วันที่ ๑๗ มีนาคม ๑๑๙

กำลังโหลดความคิดเห็น