xs
xsm
sm
md
lg

องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามการป้องกันน้ำท่วมเมืองจันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จันทบุรี - พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพระราชดำริ คลองบายพาสเมืองจันท์ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง

เมื่อเวลา 15.50 น. วันนี้ (26 ต.ค.) ที่อาคารที่ทำการโครงการบรรเทาอุทกภัยจังหวัดจันทบุรี ตามแนวทางพระราชดำริ ต.จันทนิมิต อ.เมือง จ.จันทบุรี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก องคมนตรี พร้อมคณะ ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยจังหวัดจันทบรี คลองบายพาสเฉลิมพระเกียรติ โดย นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และบรรยายสรุป

ทั้งนี้ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีระยะที่ 2 เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ณ พระราชวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 โดยสรุปได้ว่าจังหวัดจันทบุรี ประสบปัญหาอุทกภัย เนื่องจากมีถนน 3 สายขวางทางน้ำ วิธีแก้ไข คือ ให้ไปสำรวจดูว่าน้ำมาจากไหน แล้วหาช่องทางระบายน้ำให้สอดคล้องกัน

โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทาน ดำเนินการโครงการตั้งแต่ปี 2552 งบประมาณก่อสร้าง 3,500 ล้านบาท โดยโครงการเป็นคลองผันน้ำจากแม่น้ำจันทบุรี บริเวณหน้าฝายยางผ่านทุ่งสระบาป เชื่อมต่อกับคลองอ่าง และลงทะเลที่บริเวณบ้านหนองบั วระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นคลองดินขุด มีชานคลองกว้าง 4 เมตร คันคลองทั้ง 2 ฝั่งเป็นถนนลาดยาง

โดยคลองบายพาสตามแนวพระราชดำริ สามารถผันน้ำจากแม่น้ำจันทบุรีได้ประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดผลกระทบน้ำเหนือที่จะบ่าเข้าสู่เขตเศรษฐกิจ แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเขตเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาภัยแล้งแก่ชาวสวนประมาณ 5,000 ไร่ อีกทั้งเป็นการป้องกันน้ำเค็มเอ่อเข้าพื้นที่ทางการเกษตรช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าแล้วประมาณ 70% คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2558

สำหรับโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเกิดประโยชน์ คือ ระบบคลองผันน้ำสามารถผันน้ำจากแม่น้ำจันทบุรี บริเวณหน้าฝายยางได้ประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระบายผ่านไปทางท้ายน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองตะเคียน 350-355 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยสามารถควบคุม หรือบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีถึงรอบปีการเกิด 30 ปี (ขนาดเท่ากับอุทกภัยปี 2542) สามารถป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในบริเวณพื้นที่โครงการช่วงฤดูแล้ง ทั้งทางด้านท้ายประตูน้ำคลองตะเคียน ประตูระบายน้ำคลองสระบาป และประตูระบายน้ำคลองข่า ซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำและส่งน้ำบางส่วน สำหรับทำการเกษตร และใช้ในกิจกรรมอื่นบริเวณทุ่งสระบาป และตำบลหนองบัว

ช่วยเสริมเส้นทางคมนาคมของชุมชน โดยมีถนน 2 ฝั่งคลอง และมีสะพานข้ามคลองผันน้ำบริเวณถนนตัดผ่านทุกแห่ง เสริมการวางผังเมือง หรือเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเมืองจันทบุรี โดยสามารถควบคุมภาวะน้ำท่วมจากแม่น้ำจันทบุรี และคลองสาขาด้านเขาสระบาปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนในพื้นที่โครงการอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น