ตราด-สถานีพัฒนาที่ดินตราด ออกช่วยเหลือชาวสวนทุเรียน หลังพบว่ามีปัญหารากเน่าโคนเน่า เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดลามไปสู่ทุเรียนต้นอื่นๆ
จากกรณีที่ชาวสวนทุเรียน ประสบปัญหารากเน่าโคนเน่าระบาดในต้นทุเรียนของชาวสวนในหลายพื้นที่ของจังหวัดตราด ส่งผลต่อการผลิตทุเรียนในฤดูกาลผลิตปี 2558 นั้น ซึ่งเรื่องนี้ทางสถานีพัฒนาที่ดินตราดและสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตราด ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเพื่อแก้ไข และป้องกันการแพร่ระบาด
นายสุเทพ งาเจือ เกษตรกรชาวสวนทุเรียน บ้านเลขที่ 202 หมู่ 10 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด เป็นเกษตรกรอีกรายที่ต้นทุเรียนประสบปัญหารากเน่าโคนเน่า ให้ข้อมูลว่า ต้นทุเรียนในสวนของตนเกิดปัญหาใบเหลือง มีแผลตามลำต้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นเฉาตาย
แต่หลังจากเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินตราด และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์การ เกษตรจังหวัดตราด ทราบถึงปัญหา จึงได้เข้ามาให้คำแนะนำเพื่อแก้ไข และป้องกันไม่ให้โรคระบาดลามไปสู่ทุเรียนต้นอื่นๆ เพราะเชื้อดังกล่าวสามารถแพร่ได้ทางดิน และหากมีน้ำไหลผ่านหน้าดินที่มีเชื้อก็จะลามไปยังทุเรียนต้นอื่นๆ ได้
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินตราดได้ให้ตนปรับปรุงดิน ในเรื่องของความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ด้วยการใช้ปูนโดโลไมด์ร่วมกับการใช้ปุ๋ยหมัก พด.3 เพื่อควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน
หลังจากการปฏิบัติตามคำแนะนำ ปรากฏว่า อาการแผลตามลำต้นแห้งลง มียอดอ่อนแตกขึ้นมาใหม่ จากใบที่แห้งมีสีเหลืองก็มีสีเขียวเพิ่มขึ้น
ด้าน น.ส.นิโลบล สุจสินธุ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินตราด กล่าวว่า ปัญหาโรคเน่าโคนเน่าในต้นทุเรียนมักจะเป็นในช่วงฤดูฝน อากาศชื้น เชื้อจะระบาดด้วยการไหลไปตามน้ำ
จากการไปตรวจสอบพื้นที่ที่ประสบปัญหามักจะพบว่า มีปัญหาเรื่องดิน จำต้องนำดินไปตรวจสอบ และจำเป็นต้องปรับปรุงดินที่เป็นกรดที่เป็นผลมาจากการใช้สารเคมีในดินในระยะเวลานาน
ดังนั้น จึงต้องแก้ไขด้วยการใช้ปูนโดโลไมด์ และปุ๋ยหมัก พด.3 ควบคุมเชื้อโรครากเน่าโคนเน่า เป็นการปรับปรุงดินร่วมกับการใช้เชื้อราที่เป็นปฏิปักษ์ต่อราที่เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ต้นทุเรียนถึงจะฟื้นกลับมีความสมบูรณ์แข็งแรง หากชาวสวนทุเรียนยังพบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า ก็สามารถขอคำปรึกษาจากเกษตรอำเภอในพื้นที่ หรือสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป