xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! พบตุ๊กแกบิน โผล่ “ภูหินร่องกล้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - พบตุ๊กแกบินลักษณะเหมือนกับกิ้งก่าบินบน อช.ภูหินร่องกล้า ตรวจสอบเบื้องต้นคาดเป็น “ตุ๊กแกบินหางแผ่น” พบในป่าดิบทางภาคใต้ จนถึงภาคเหนือของมาเลย์-สิงคโปร์ และชายแดนอินเดีย-พม่า

วันนี้ (21 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก จับสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งได้บริเวณลานกลางเต็นท์ของอุทยานเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา โดยสัตว์ตัวดังกล่าวลงมากินแมลงที่พื้นดิน รูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด จึงจับใส่ขวดน้ำไว้

โดยพบว่าเป็นสัตว์ประเภทตุ๊กแก แต่เป็นตุ๊กแกบินได้ เนื่องจากมีหนังคล้ายพังผืดข้างลำตัวแผ่ออกไปจนถึงขาทั้งสี่ขา ทำให้เวลากระโดดหรือโฉบเคลื่อนย้ายจะร่อนไปมาระหว่างต้นไม้ ลักษณะทั่วไปเหมือนตุ๊กแกปกติ แต่หางแบนเป็นหยักคล้ายใบเลื่อย

นายมนัส สีเสือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า นายดอนชัย ทองหงำ เจ้าหน้าที่เวรรักษาการณ์ ผู้ที่พบตุ๊กแกบินได้ บอกว่าขณะออกตรวจตรารักษาความปลอดภัยบริเวณลานกางเต็นท์ พบตุ๊กแกตัวดังกล่าวอยู่ที่พื้นจึงจับมาเก็บไว้ เพราะไม่เคยพบเห็นมาก่อน ส่วนใหญ่แล้วมักพบแต่กิ้งก่าบินได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่อุทยานจึงนำมาเลี้ยงไว้เพื่อทำการศึกษา ก่อนจะเตรียมการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

จากการสืบค้นข้อมูลและรูปภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี พบว่า ตุ๊กแกที่จับได้บนอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้านั้น เป็นตุ๊กแกบินหางแผ่น (อังกฤษ : Kuhl's flying gecko; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ptychozoon kuhli) เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งจำพวกตุ๊กแก มีรูปร่างคล้ายจิ้งจกบ้านทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่กว่า ลำตัวยาวประมาณ 9.5 เซนติเมตร หางยาว 9.5 เซนติเมตร มีพังผืดยึดระหว่างนิ้วเท้า ใต้เท้ามีแผ่นยึดเกาะเรียงเป็นแถวเดี่ยว ปลายนิ้วมีเล็บ มีแผ่นหนังแผ่กว้างออกมาจากข้างแก้มและลำตัว ทำหน้าที่เหมือนปีกเครื่องร่อน หางแบนขอบหางหยัก ปลายหางแผ่เป็นแผ่นกว้างขอบเรียบ และกว้างกว่าหางส่วนที่เป็นหยัก สันหางมีตุ่ม ลำตัวสีน้ำตาลหรือเทา มีแถบเข้มพาดขวางบนหลัง 4 แถบ หางมีลายพาด

พบได้ในป่าดิบในภาคใต้ของไทย ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ปัตตานี จนถึงภาคเหนือของมาเลเซีย สิงคโปร์ หมู่เกาะนิโคบาร์ ในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่ติดกับพม่า โดย “ตุ๊กแกบินหางแผ่น” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 แต่ก็นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้ที่นิยมสัตว์เลื้อยคลานเช่นเดียวกับตุ๊กแกบินหางเฟิน (P. lionotum) ซึ่งเป็นตุ๊กแกในสกุลเดียวกันด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น