ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ -เชียงใหม่ ประชุมคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ของรัฐบาล กำชับดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส ย้ำต้องตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรอย่างละเอียด ขณะที่ ป.ป.ท.เตือนระวังเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ฉวยโอกาสแบ่งแปลงเหลือไม่เกิน 15 ไร่ สวมชื่อคนอื่นขอรับสิทธิ พร้อมเผยกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง จนท.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเดินสำรวจแปลงละ 25 บาท
วันนี้ (17 ต.ค.) นายนาวิน สินธุสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยตามมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ปี 2557 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมการดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2557/2558 เพื่อที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ ตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล โดยมีเกษตรอำเภอ เกษตรตำบล และเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าร่วม ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ ในการประชุม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำชับการดำเนินการตามมาตรการนี้ให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด รวดเร็ว รัดกุม และโปร่งใส ป้องกันการทุจริต
โดยเน้นย้ำเป็นพิเศษในในส่วนของการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพื่อขอรับสิทธิตามมาตรการนี้ ที่ต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบ ถูกต้อง และโปร่งใสตั้งแต่แรกเริ่มในระดับหมู่บ้านเพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา ซึ่งกรรมการตรวจสอบรับรองสิทธิ จะต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายละเอียดต่างๆ อย่างครบถ้วนก่อนที่จะรับรองสิทธิให้แก่เกษตรกรที่ขอขึ้นทะเบียน
ด้านนายชัยวัฒน์ เหลืองเมฆา ผู้อำนวยการกลุ่มปราบปรามการทุจริต สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภาค 5 เปิดเผยว่า เบื้องต้นหลักเกณฑ์การดำเนินการตามมาตรการนี้ถือว่ามีความละเอียดรัดกุมดีในการที่จะพยายามป้องกันไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในการดำเนินการจริงอาจจะมีความบกพร่องเกิดขึ้นได้
จากการลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลพบว่า การตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นจุดเริ่มของการดำเนินการทั้งหมด ดังนั้น หากมีความผิดพลาดตั้งแต่แรกเริ่มก็จะผิดพลาดไปทุกขั้นตอน จึงต้องขอความร่วมมือจากกรรมการตรวจสอบรับรองสิทธิเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนให้ตรวจสอบอย่างละเอียดที่สุด และโปร่งใส
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการกลุ่มปราบปรามการทุจริต สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐภาค 5 กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ควรมีการตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยว่า เกษตรกรบางรายที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ มีการฉวยโอกาสแบ่งแปลงปลูกข้าวเป็นแปลงละไม่เกิน 15 ไร่ แล้วอ้างชื่อผู้อื่นเพื่อขอรับสิทธิที่จะได้เงินชดเชยหรือไม่ รวมทั้งในกรณีที่แม้จะมีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ ก็จะต้องมีการตรวจสอบด้วยว่ามีการปลูกข้าวจริงเป็นพื้นที่เท่าใด เนื่องจากเงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรการนี้จะจ่ายให้เฉพาะการปลูกข้าวเท่านั้น
นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า เวลานี้มีการให้ข้อมูลว่าในบางพื้นที่มีเจ้าหน้าหน้าที่เรียกเก็บเงินจากเกษตรกรที่ขอขึ้นทะเบียนแปลงละ 25 บาท โดยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเดินสำรวจแปลงปลูกข้าวเพื่อรับรองสิทธิ เช่น ค่าเครื่องมือเดินสำรวจ ค่าถ่ายเอกสาร เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้ทำตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษาขอคำแนะนำจาก ป.ป.ท.ได้ตลอด เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่ง ป.ป.ท.ภาค 5 ตั้งเป้าหมายว่าจะไม่มีการร้องเรียนทุจริตการดำเนินการตามมาตรการนี้เข้ามาแม้แต่เรื่องเดียว
สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวนาปี ปี 2557/2558 ของจังหวัดเชียงใหม่ จำแนกตามสถานที่ตั้งแปลงนั้น ข้อมูล ณ วันที่ 15 ต.ค.57 มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 38,937 ครัวเรือน จำนวน 74,901 แปลง พื้นที่ปลูกรวม 327,924.25 ไร่ แบ่งเป็นแปลงเก่า 55,830 แปลง พื้นที่ 246,954.75 ไร่ และแปลงใหม่ 19,071 แปลง พื้นที่ 80,969.50 ไร่ โดยที่จะมีการรับขึ้นทะเบียนไปจนถึงวันที่ 15 พ.ย.57 ส่วนการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของจังหวัดเชียงใหม่นั้นคาดว่าน่าจะเริ่มต้นจ่ายได้ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.57 เป็นต้นไป หลังจากที่มีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องแล้ว