ศูนย์ข่าวศรีราชา - จังหวัดชลบุรี เปิดงานประเพณีวิ่งควายยิ่งใหญ่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรี ที่บรรพบุรุษของชาวชลบุรีได้สร้างสมไว้ให้เป็นอมตะสมบัติสืบทอดของชาวชลบุรี
วันนี้ (7 ต.ค.) นายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี ประจำปี 2557 ครั้งที่ 143 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี โดย นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้กล่าวต้อนรับนักท่องเที่ยว พร้อมรายงานความเป็นมาของงานประเพณีวิ่งควายของจังหวัดชลบุรี
นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เมืองชลบุรี เป็นประตูเมืองแห่งภาคตะวันออก เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจที่ดีจังหวัดหนึ่ง เป็นเมืองท่องเที่ยวและมีประเพณีที่สำคัญ โดดเด่นและเก่าแก่ นั่นคือ งานประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 143 ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรีโดยแท้ที่บรรพบุรุษของชาวชลบุรีได้สร้างสมไว้ให้เป็นอมตะสมบัติสืบทอดของชาวชลบุรี เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ก่อนวันออกพรรษา 1 วันของทุกปี เป็นช่วงฤดูกาลหว่านไถเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตลอดจนแรงสัตว์ที่ได้ใช้ทำงานกำลังจะให้ผลอยู่รำไร ความสุข และความหวังกำลังรออยู่เปลืองหน้าอย่างน่าภาคภูมิใจ
ส่วนสัตว์ เช่น วัวควายที่ใช้ไถนาเป็นเวลาหลายเดือน ควรได้มีส่วนได้รับความสุขตามสภาพบ้าง จึงได้มีการตกแต่งวัวควายของตนให้สวยงาม เป็นการทำขวัญควาย แล้วก็นำควายเข้าเมืองเพื่อพบปะกับบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย ไม่วาจะอยู่สารทิศใดก็มีโอกาสพบปะสังสรรค์กันในวันนั้น ซึ่งเป็นวันที่เกษตรกรมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสารทุกข์สุขดิบ มีการเลี้ยงดูกันอย่างสนุกสนาน
ตลอดจนมีการประกวดความสมบูรณ์ของวัวและควาย ถือว่าเป็นวันของผู้ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติมาสันนิบาตพบปะกันจริงๆ เหตุที่เลือกเอาวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 นั้น เพราะวันรุ่งขึ้นเป็นวันพระ ทุกคนต้องหยุดงานไปวัด แม้กระทั่งวัวควายก็ไม่ยอมให้ใช้งานวันพระ
โดยเฉพาะต่อไปวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นออกพรรษาการนำควายมาวิ่งอวดประกวดกันในเมืองวันนั้น ขามาก็เอาควายมาเทียมเกวียนบรรทุกกล้วย มะพร้าว ใบตอง ยอดมะพร้าวมาขาย เพื่อคนในเมืองได้ซื้อไปห่อข้าต้มหางทำบุญตักบาตรในวันออกพรรษา ซึ่งถือว่าเป็นวันเทโวโรหณะ และสิ่งที่น่าภาคภูมิใจยิ่งสำหรับประเพณีวิ่งควายของชาวชลบุรี ก็คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้เสด็จประพาสจังหวัดชลบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2455
ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในสมัยนั้นคือ พระยาวิเศษฤาๆชย ได้จัดวิ่งควายถวายทอดพระเนตร ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี โดยมีหลักฐานปรากฏในพระราชกิจราชวัน กรมราชเลขาธิการได้บันทึกไว้ จึงขอคัดมาเป็นหลักฐาน
นายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีการว่ากระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า งานประเพณีวิ่งควายจังหวัดชลบุรี เป็นการแข่งขันวิ่งควายแห่งเดี่ยวในเมืองไทย และแห่งเดี่ยวในโลก ประเพณีวิ่งควาย เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชลบุรี งานนี้จัดขึ้นหลังฤดูการไถนาเพื่อให้ควายพักเหนื่อยหลังการใช้งานอย่างหนัก และระหว่างรอการเก็บเกี่ยวชาวนานำควายมาชุมนุมกันเพื่อถือโอกาสมาพบปะสนทนากัน
รวมทั้งการซื้อขายสินค้าที่ตลาดจนกลายมาเป็นการแข่งขันวิ่งควายขึ้น ประเพณีวิ่งควายเป็นประเพณีที่จัดเป็นประจำทุกปีในวันก่อนออกพรรษา 1 วัน เป็นประเพณีที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่บรรพชนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการทำขวัญควาย และให้ควายได้พักผ่อนจากงานในท้องนา และเพื่อให้ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์กันไม่ว่าจะอยู่สารทิศใดก็ได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กันในวันนั้น มีการเลี้ยงดูกันสุนกสนาน
ตลอดจนมีการประกวดความสมบูรณ์ของวัวและควาย เดิมมีแต่คนในท้องถิ่นรู้จัก แต่ในปัจจุบันประเพณีวิ่งควายเป็นประเพณีประจำจังหวัดชลบุรี ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่วหน้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอีกด้วย
โดยกระทรวงวัฒนธรรม สนับสนุนงานมหกรรมวัฒนธรรมภาคกลาง ประเพณีวิ่งควาย ครั้งที่ 143 ภายใต้แนวคิด หนึ่งเดี่ยวในไทย หนึ่งเดียวในโลก ซึ่งประเพณีวิ่งควาย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2555 ประเภทกีฬาภูมิปัญญาไทย โดยในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดชลบุรี เทศบาลเมืองชลบุรี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี สร้างประวัติศาสตร์ของประเพณีที่มีตำนานกว่า 143 ปี ในการนำวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นประจำเมืองชลบุรีเพื่อสืบสานอนุรักษ์ประเพณีตลอดไป
ด้าน นายเดโช คงชยาสุขวัฒน์ นายกเทศมนตรีเมืองชลบุรี กล่าวว่า งานประเพณีวิ่งควายในปีจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-10 ตุลาคม 2557 โดยในวันที่ 7 ตุลาคม 2557 เป็นวันวิ่งควาย มีกิจกรรมที่น่าสนใจ การแข่งขันวิ่งควายโดยแบ่งออกเป็น รุ่นจิ๋ว รุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ การประกวดตกแต่งควายประเภทสวยงาม และตลกขบขัน การประกวดสุขภาพควาย พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ การแห่ริ้วขบวนเกวียนกัณฑ์ 13 เล่มเกวียน ขบวนคำขวัญของจังหวัด ขบวนอนุรักษ์วัฒนธรรมของแต่ละอำเภอและหน่วยงานต่างๆ การประกวดน้องนางบ้านา การประกวดสาว (เหลือ) น้อยบ้านนา การแข่งขันกีฬาพื้นบ้านประเภทต่างๆ เช่น การแข่งขันทายโจ๊ก ปีนเสาน้ำมัน ตัดว่าวป่านคม ตะกร้อลอดห่วง ชกมวยไทย ที่พิเศษกว่าทุกปี คือ กีฬาพื้นบ้านไทย และการจำหน่ายสุดยอดสินค้า OTOP ของแต่ละอำเภอในจังหวัดชลบุรี
สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ประเพณีท้องถิ่นของชาวจังหวัดชลบุรีออกไปให้ยังนักการท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติได้รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยประเพณีวิ่งควายเป็นการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 143 จึงขอเชิญร่วมเป็นหนึ่งในการสืบสานประเพณีของชาวจังหวัดชลบุรี
ภายในงานจะพบกับกิจกรรมมายกมาย ร่วมระทึกใจกับไฮไลต์ของงานประเพณีวิ่งควาย คือ การแข่งขันวิ่งควาย รุ่นซูเปอร์จิ๋ว รุ่นจิ๋ว รุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ในวันนี้เท่านั้น และชมการประกวดตกแต่งควาย ประเภทสวยงามและตลกขบขัน การประกวดสุขภาพควาย และควายงามพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ร่วมตัดสินการแข่งขันแกะหอยแมลงภู่ การประกวดออกร้านหอยทอด การประกวดน้องนางบ้านนา การประกวดน้องนางบ้านนา การประกวดสาว (เหลือ) น้อยบ้านนา การประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง และชมการแห่ริ้วขบวนเกวียนกัณฑ์ ขบวนคำขวัญของจังหวัดชลบุรี ขบวนอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยของแต่ละอำเภอและหน่วยงานต่างๆ พร้อมสนุกสนามกับการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การแข่งขันทายโจ๊กปริศนา การปีนเสาน้ำมัน ตะกร้อลอดห่วง ชกมวยไทย ยิงเป้าโดยหนังสติ๊ก และอีกมายมาย