กาญจนบุรี - ผบ.พล.ร.9 ค่ายสุรสีห์ นั่งหัวโต๊ะถกผู้เกี่ยวข้องจัดระเบียบภูมิทัศน์โดยรอบสะพานมอญไม้เพื่อความสวยงาม หลังซ่อมสะพานแล้วเสร็จ ใครรุกที่ขอให้ย้ายออกเพื่อส่วนรวม หากฝ่าฝืนให้ อช.เขาแหลม ดำเนินการทันที พบมีปัญหาเพียงรายเดียว พร้อมเตรียมประเดิมจัดงานแสดง แสง สี เสียง ดึง นทท.เข้าพื้นที่ ทุก 18 ต.ค. ขณะที่ปลัดเทศบาลตำบลวังกะเสนอคง “สะพานลูกบวบ” ไว้ดังเดิม เพราะจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งของอำเภอสังขละบุรี
วันนี้ (5 ต.ค.) ที่ห้องประชุมชั่งคราววัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี พล.ต.ณัฐ อินทรเจริญ ผบ.พล.ร.9 กกล.สุรสีห์ (คนใหม่) เป็นประธานประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดระเบียบภูมิทัศน์พื้นที่โดยรอบสะพานอุตตมานุสรณ์ หรือสะพานไม้ (สะพานมอญ) ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และการเตรียมจัดงานพิธีทำบุญครั้งใหญ่ และงานฉลองแสง สี เสียงขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากสะพานซ่อมบูรณะแล้วเสร็จ โดยการจัดงานจะมีขึ้นพร้อมกันในวันที่ 18 ต.ค.57
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม นายชาธิป รุจนเสรี นายอำเภอสังขละบุรี นายวิโรจน์ โรจนจินดา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม นายมานพ เกิดแดง ปลัดเทศบาลตำบลวังกะ น.ส.รัชนี จำปีขาว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย
พล.ต.ณัฐ อิทรเจริญ ผบ.พล.ร.9 ค่ายสุรสีห์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กำลังทหารช่าง ช.พัน 9 และหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง และดำเนินการซ่อมบูรณะสะพานอุตตมานุสรณ์ ให้มั่นคงแข็งแรง โดยทหารที่เข้ามาดำเนินการครั้งนี้มาด้วยใจ และทหารไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เงินทุกบาทที่นำมาซ่อมสะพานเป็นเงินที่ได้รับบริจาคโดยทางวัดเป็นผู้ดำเนินการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
“สำหรับปัญหาที่มีมาในอดีตทหารจะไม่ขอยุ่งเกี่ยว ขอทำหน้าที่ซ่อมบูรณะสะพานให้แล้วเสร็จอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนใครจะไปร้องที่ ป.ป.ช.ก็เป็นสิทธิที่จะทำได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย” พล.ต.ณัฐ กล่าว
พล.ต.ณัฐ อิทรเจริญ ผบ.พล.ร.9 ค่ายสุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดระเบียบพื้นที่โดยรอบสะพานก็มีชาวบ้านอยู่เพียงรายเดียวเท่านั้นที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งทางอำเภอสังขละบุรี และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ก็ได้มีการแจ้งเตือนชาวบ้านรายนั้นไปแล้ว แต่ในส่วนของการปฏิบัติก็คงจะต้องทำด้วยความอะลุ่มอล่วยกัน และให้คนในพื้นที่ทำประชาคมกันให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะพื้นที่ชุมชนแห่งนี้ไม่ควรที่จะมีคนแปลกปลอมเข้ามา ทุกคนจะต้องแชร์ความสุขให้กันและกันเพื่อส่วนรวม หากการประชาคมเห็นว่าสมควรให้ชาวบ้านรายนั้นย้ายออก ท่านก็จำเป็นจะต้องย้ายออกไปตามมติของประชาคมในชุมชน
“หลังจากสะพานแล้วเสร็จเราทุกคนก็ควรที่จะมาร่วมเฉลิมฉลองพร้อมกันทุกภาคส่วน เพื่อที่จะได้คืนความสุขให้แก่อำเภอสังขละบุรี ส่วนแผนการที่คิดเอาไว้เบื้องต้นจะมีการจัดแสดง แสง สี เสียงขึ้นเป็นครั้งแรกที่สะพานแห่งนี้ และจะเป็นการสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้
เช่น ความสำคัญชองชาวมอญ ชาวบ้าน และความสำคัญของหลวงพ่ออุตตมะ ที่ท่านได้สร้างสะพานอุตตมานุสรณ์แห่งนี้ขึ้นมาจะเป็นการแสดงถึงความเชิดชูถึงหลวงพ่ออุตตมะ ด้วย และหากการจัดงานประสบผลสำเร็จ เชื่อว่าจะจัดงานต่อไปในทุกๆ ปี เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเป็นจำนวนมาก” พล.ต.ณัฐ กล่าว
นายชาธิป รุจนเสรี นายอำเภอสังขละบุรี กล่าวถึงปัญหา และอุปสรรคในการจัดระเบียบพื้นที่โดยรอบสะพานในที่ประชุมว่า ตนได้ส่งหนังสือไปถึงลุงสม เจ้าของบ้าน 1 ใน 3 หลังที่ปลูกสร้างอยู่ใกล้กับสะพาน และรุกล้ำเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมมาแล้วถึง 3 ครั้ง เพื่อขอให้รื้อถอนบ้านเรือนไม้ออกไปให้พ้นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งก็ได้รับการปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือต่อหน่วยงานภาครัฐ และชุมชนมาโดยตลอด
“เมื่อประมาณ 1 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทางอำเภอได้มีการประชุมร่วมกับหัวหน้าอุทยานฯ ผู้นำท้องถิ่น โดยได้เชิญลุงสม เจ้าของบ้านมาร่วมประชุมด้วยเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง แต่กลับมีการต่อรองกับเจ้าหน้าที่ว่า หากต้องการให้ย้ายออกไปจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่เขาด้วยจึงจะยอมย้ายออก ตนและหน่วยงานที่ร่วมประชุมในวันนั้นมองว่าไม่เคยมีที่ไหนที่คนทำผิดรุกที่อุทยานฯ แล้วรัฐจะต้องมาจ่ายค่าชดเชยให้ จึงขอให้เจ้าของพื้นที่คือ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย” นายชาธิป กล่าว
สำหรับบ้านที่เข้ามาปลูกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีทั้งหมด 3 หลัง เป็นคนในพื้นที่ชุมชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย 2 หลัง และด้วยความเมตาของพระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม จึงได้จัดเตรียมที่ดินของวัดเอาไว้เพื่อให้ไปปลูกบ้านที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมก็ได้รับปากว่า พร้อมที่จะนำกำลังเจ้าหน้าที่มาช่วยกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
นอกจากนี้ ทางวัดยังจะขอกำลังจากชาวบ้านด้วยกันเองให้ไปช่วยปลูกบ้านหลังใหม่ให้ ซึ่งเจ้าของบ้าน 2 หลังก็ได้ให้ความร่วมมือ และพร้อมที่จะย้ายออกไปโดยไม่มีข้อแม้ เพราะเขาเห็นแก่ส่วนรวมของชุมชน ส่วนบ้านที่ไม่ยอมย้าย ทางวัดไม่ได้จัดสรรที่ให้ เพราะเป็นคนที่มีฐานะร่ำรวยเป็นที่รู้จักของชาวอำเภอสังขละบุรี เป็นอย่างดี และทางครอบครัวยังมีรีสอร์ตให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย
ด้านนายวิโรจน์ โรจนจินดา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม กล่าวถึงปัญหาเดียวกันว่า ตามข้อเท็จจริง เดิมทีบ้านหลังดังกล่าวเป็นแพล่อง และจากการสอบถามชาวบ้าน และผู้นำชุมชนในพื้นที่ทราบว่า เจ้าของบ้านไม่ใช่ชาวบ้านในพื้นที่ดั้งเดิม เพียงแต่เข้ามาอาศัย และประกอบธุรกิจในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี มายาวนาน เป็นคนมีฐานะร่ำรวย และหลังจากที่ตนมารับตำแหน่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่สะพานอุตตมานุสรณ์ อยู่ระหว่างการดำเนินการซ่อมบูรณะร่วมระหว่างทหารกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสม เห็นสมควรปรับภูมิทัศน์รอบพื้นที่สะพานเพื่อความสวยงามไปพร้อมๆ กัน ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือคนในชุมชนทั้งหมด
“ครั้งแรกอุทยานฯ มองว่าเป็นปัญหาเรื่องความละเอียดอ่อน ซึ่งเราเองก็เข้าใจดีว่าเจ้าของบ้านได้อาศัยอยู่มานานหลายปี จึงต้องอาศัยการเจรจาเพื่อให้เกิดความปรองดองตามวัตถุประสงค์ของคณะ คสช.และที่ผ่านมา ทางอำเภอ และอุทยานฯ รวมทั้งวัดวังก์วิเวการาม และผู้นำท้องถิ่น ก็ได้ร่วมกันเจรจาขอร้องทุกอย่าง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทราบว่าคนในชุมชนเองต่างรู้สึกระอาต่อการกระทำของเจ้าของบ้านหลังดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะจากพฤติกรรมที่ไม่เห็นแก่ส่วนรวม อุทยานฯ จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย หากยังดื้อที่จะไม่ยอมรื้อถอน”
ด้านนายมานพ เกิดแดง ปลัดเทศบาลตำบลวังกะ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า หลังจากสะพานอุตตมานุสรณ์ ซ่อมสร้างแล้วเสร็จ และมีพิธีทำบุญอย่างเป็นทางการ ตนเห็นว่าควรที่จะยังคงสะพานลูกบวบเอาไว้ดังเดิม เพราะถือว่าสะพานลูกบวบจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งของอำเภอสังขละบุรี และหากคงไว้ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือ ชาวอำเภอสังขละบุรี นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมความสวยงามของสะพาน ก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นว่าจะเลือกเดินชมบรรยากาศในรูปแบบใด
อีกทั้งจะเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการชาวแพที่อยู่ในบริเวณนั้นเข้ามาใกล้กับสะพาน ซึ่งจะทำให้บดบังทัศนียภาพ และจะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการชาวแพไม่สามารถนำเชือกมาผูกแพยึดติดกับเสาตอม่อของสะพานได้ เพราะเกรงว่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สะพานพังลงมาในอนาคตได้