ราชบุรี - ชาวนาหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลคูบัว เมืองราชบุรี รวมตัวบริเวณคลองชลประทานส่งน้ำบ้านตากแดด เรียกร้องให้ชลประทานปล่อยน้ำ หลังจากนาข้าวหลายพันไร่กำลังขาดน้ำ และใกล้จะยืนตันตาย ปลัดอำเภอเมืองราชบุรี และนายก อบต.คูบัว เข้าเจรจา จนชลประทานยอมปล่อยน้ำให้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (1 ต.ค.) ชาวนาในพื้นที่หมู่ที่ 1, 2, 3, 5, 10 และหมู่ 11 ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ได้มารวมตัวกันที่บริเวณคลองชลประทานส่งน้ำบ้านตากแดด หมู่ 1 ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เพื่อเรียกร้องให้ทางชลประทานได้เร่งปล่อยน้ำเพื่อที่ชาวนาจะได้สูบน้ำเข้าในนาข้าวซึ่งมีอยู่หลายพันไร่กำลังจะยืนต้นแห้งตาย เพราะขาดน้ำมากว่า 1 เดือนแล้ว
นางเมตตา เอี่ยมโฉม อายุ 53 ปี ชาวนาในพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านตากแดด ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ตนทำนาประมาณ 100 ไร่ ขณะนี้ข้าวที่ปลูกไว้กำลังจะเริ่มแตกกอ แต่ขาดน้ำไปหล่อเลี้ยงทำให้กำลังจะแห้งตาย เนื่องจากชลประทานไม่ยอมปล่อยน้ำเข้าคลองส่งน้ำให้แก่ชาวนา ทำให้ชาวนาเดือดร้อนมาก
ต่อมา นายกนิษฐ์ ศิลา ปลัดอำเภอเมืองราชบุรี และนายพจธนศล ธนิกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) คูบัว ได้เดินทางเข้ามาเจรจากับชาวนา พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ชลประทานฝั่งขวา เพื่อให้ปล่อยน้ำให้แก่ชาวนา แต่ได้รับการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ชลประทานว่า เนื่องจากน้ำจากเขื่อนท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ได้ส่งน้ำลงแม่น้ำแม่กลองมีปริมาณค่อนข้างน้อย เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำในเขื่อนมีน้อย จึงต้องทำการจัดตารางส่งน้ำจัดสรรเข้าพื้นที่นาให้แก่ชาวนา
โดยในพื้นที่ของตำบลคูบัว นั้นอยู่คิวปล่อยน้ำที่ 41 และจะส่งน้ำให้ภายในสัปดาห์หน้าคือ วันที่ 6-12 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ส่วนปัญหาต่อไปคือ เวลาที่ชลประทานปล่อยน้ำออกมา ก็จะมีชาวนาบางคนแอบไปปิดประตูน้ำเพื่อให้น้ำไหลเข้าอีกคลองเพื่อไปเข้านาตนเอง ทำให้น้ำไปไม่ถึงปลายคลอง จึงทำให้ชาวนาที่อยู่ปลายคลองเดือดร้อน
ทั้งนี้ นายกนิษฐ์ ศิลา ปลัดอำเภอเมืองราชบุรี จึงได้มีการเจรจากับกลุ่มชาวนาว่า จะให้ผู้ใช้น้ำเรียกประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำก่อนว่าจะมีแนวทางในการบริหารจัดการน้ำอย่างไร แต่ชาวนาที่เดินทางมาบริเวณดังกล่าวไม่พอใจ เนื่องจากหากให้ชาวนารอจนถึงวันที่ 6 ตุลาคม เกรงว่าอาจจะทำให้ข้าวในนาที่ปลูกไว้แห้งตายก่อน โดยชาวนาขอร้องให้ชลประทานเร่งปล่อยน้ำให้ก่อนช่วงนี้เพื่อช่วยนาข้าวที่กำลังจะแห้งตาย
ภายหลังการเจรจา ทางเจ้าหน้าที่ชลประทาน จึงยินยอมปล่อยน้ำให้แก่ชาวนาในพื้นที่ตำบลคูบัว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้วในเบื้องต้น ทำให้ชาวนาเกิดความพอใจแยกย้ายกันกลับในเวลาต่อมา