อุบลราชธานี - เจ้าหน้าที่ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเดินหน้าลุยตรวจโครงการไฟฟ้าส่องสว่างตามถนนจากโซล่าเซลล์ในจังหวัดอุบลราชธานี พบพิรุธมีใบสั่งจากหน่วยงานส่วนกลาง และนักการเมืองระดับชาติ ล็อกสเปกสินค้า ตั้งราคาแพงเกินจริง พร้อมดำเนินการตรวจสอบหาคนผิดภายใน 3 เดือน
วันนี้ (24 ก.ย.) ที่สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านด่านโขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พ.ต.ท.ทนง เพิ่มพูล ผู้อำนวยการกลุ่มปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 1 นครราชสีมา เข้าตรวจสอบเอกสารจัดซื้อโครงการก่อสร้างระบบไฟฟ้าแสงสว่างไฟถนนโซลาร์เซลล์ ซึ่งใช้งบประมาณจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ สำหรับพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปี 2556 จำนวน 2.9 ล้านบาทเศษ เพื่อติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างริมถนนพรหมสิงห์ ในเขตเทศบาลตำบลบ้านด่านโขงเจียมจำนวน 26 ต้น
โดยบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างครั้งนี้คือ บริษัท เบสดรากอน คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยมีบริษัทเสนอราคาเปรียบเทียบอีก 2 บริษัท แต่มีราคาแพงกว่าบริษัทเบสดรากอนฯเสนอ 1,000-4,000 บาท ทำให้บริษัท เบสดรากอน คอนสตรัคชั่น จำกัด สามารถการประมูลในราคาต้นละ 114,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเทศบาลฯ ยอมรับว่าสเปก รวมทั้งราคาวัสดุ และแบบของเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ถูกกำหนดมาให้จากหน่วยงานส่วนกลาง และมีนักการเมืองท้องถิ่นระดับชาติเข้ามาล็อบบี้
รวมทั้งผู้บริหารเทศบาลฯ ชุดเก่าให้รีบใช้วิธีจัดซื้อแบบพิเศษ เพื่อให้ทันใช้งบประมาณภายในสิ้นเดือนกันยายน ปี 2556 ก่อนจะเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ในปีนี้
เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.จึงบันทึกข้อมูลและขอรับเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างและดูวัสดุที่ใช้ทำเสาไฟฟ้า เพื่อใช้ประกอบการตรวจสอบหาข้อพิรุธในการจัดซื้อของเทศบาลตำบลบ้านด่านโขงเจียม แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใครแต่อย่างใด
ต่อมาเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ชุดเดียวกันได้เดินทางไปที่ อบต.ห้วยไผ่ ซึ่งได้รับงบประมาณใช้จัดซื้อเสาไฟฟ้าจากบริษัทเดียวกันจำนวน 17 ต้น เพื่อติดตั้งริมถนนสายบ้านหนองผือน้อย ถึงบ้านกุ่ม จำนวน 1.9 ล้านบาทเศษ หรือราคาเฉลี่ยต้นละ 110,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ของ อบต.ระบุว่าไม่มีความรู้เรื่องโครงการไฟฟ้าส่องสว่างชนิดนี้เพราะเป็นโครงการใหม่ จึงได้จัดซื้อจัดจ้างตามที่ได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานส่วนกลางและบริษัทที่นำสินค้ามาจำหน่ายให้
เพราะหากไม่รับโครงการไว้ก็จะไม่ได้รับงบมาพัฒนาท้องถิ่น เนื่องจากเคยเขียนโครงการพัฒนาท้องถิ่นแบบอื่นเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนไปกว่า 10 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับการพิจารณาช่วยเหลือ จึงต้องรับโครงการดังกล่าวและจัดซื้อตามที่ได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานส่วนกลาง และในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ได้เข้าตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ อบต.คันไร่ อ.สิรินธร มูลค่ากว่า 1 ล้านบาทเศษ ซึ่งพบมีการจัดซื้อเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในรูปแบบและราคาใกล้เคียงกับสองหน่วยงานท้องถิ่นแรกด้วย
ด้าน พ.ต.ท.ทนง เพิ่มพูล ผู้อำนวยการกลุ่มปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 1 นครราชสีมา กล่าวว่า การเข้าตรวจสอบเอกสารครั้งนี้เพื่อดูว่ามีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ราคาแพงเกินความจริงหรือไม่ และวัสดุที่ได้รับมาเป็นชนิดเดียวกันกับ อบต.ในอำเภอนางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่สามารถซื้อได้ในราคาถูกกว่าเพียงต้นละ 42,000 บาทหรือไม่
หากพบทุกอย่างเป็นอย่างเดียวกันก็จะสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทที่นำสินค้ามาจำหน่าย จนทำให้รัฐได้รับความเสียหายในการจัดซื้อครั้งนี้ และหากการทำผิดครั้งนี้อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ท.ก็จะดำเนินการฟ้องร้องเอง หากไม่อยู่ในอำนาจจะส่งมอบให้ ป.ป.ช.รับไปดำเนินการฟ้องร้องต่อ โดยจะสรุปข้อมูลให้เสร็จใน 3 เดือนตามกรอบที่เลขาธิการ ป.ป.ท.สั่งการไว้