บุรีรัมย์ - ชาวบ้านและผู้นำชุมชนบุรีรัมย์ร้องตรวจสอบ “โครงการเห็ดล้านก้อนไถ่ชีวิตโคกระบือ” หลังมีกลุ่มบุคคลบริษัทเอกชนเข้าไปชักชวนให้เข้าร่วมโครงการฯ และแอบอ้างเป็นโครงการพระราชดำริ เผยมีชาวบ้านจ่ายค่าสมัครสมาชิกและจ่ายเงินออมแล้วนับร้อยราย หวั่นถูกหลอกลวง ด้านเกษตรจังหวัดสั่งเกษตรอำเภอตรวจสอบข้อเท็จจริง
วันนี้ (16 ก.ย.) ชาวบ้านและผู้นำชุมชนหลายหมู่บ้านใน ต.หนองตาด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ “โครงการเห็ดล้านก้อนไถ่ชีวิตโคกระบือ ภายใต้แผนปลดหนี้เกษตรกร 5 ปี 2556-2560” หลังมีกลุ่มบุคคลอ้างเป็นตัวแทนบริษัทแห่งหนึ่งเข้าไปชักชวนให้ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการฯ แอบอ้างเป็นโครงการพระราชดำริ โดยมีเงื่อนไขให้ชาวบ้านที่สนใจจ่ายค่าสมัครสมาชิกแรกเข้าคนละ 350 บาท และแต่ละคนต้องส่งเงินออมต่อเนื่องเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 1 ปี โดยบริษัทสัญญาว่าจะสร้างโรงเห็ดและมอบเชื้อเห็ดให้แก่สมาชิก รวมมูลค่ารายละ 30,000 บาท และทางบริษัทจะรับซื้อผลผลิตเห็ดจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 30 บาทเพื่อไปจำหน่าย
โดยขณะนี้มีชาวบ้านหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลหลงเชื่อยอมจ่ายค่าสมัครและเงินออมเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ แล้วนับร้อยราย ทั้งชาวบ้านและผู้นำชุมชนเกรงว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะเข้ามาหลอกลวงสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ประชาชน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการดังกล่าวตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ออกไปชักชวนชาวบ้านให้เข้าร่วมโครงการแล้ว 7 อำเภอ เช่น อ.เมือง อ.พลับพลาชัย อ.นางรอง และ อ.ห้วยราช
นายสุเทพ จันทะมาศ ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 บ.มาบสมอ ต.หนองตาด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ระมัดระวัง และใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ แต่ส่วนตัวเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นโครงการของรัฐจึงไม่น่าเชื่อถือ จึงขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการดังกล่าวด้วย
ทางด้าน นายปัญญา ศิลปะ เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทางเกษตรอำเภอเข้าไปตรวจสอบตามหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ ว่ามีชาวบ้านที่สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวกี่กลุ่ม กี่ราย พร้อมทั้งให้สอบถามว่าชาวบ้านที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก ได้รับเงินทุนสร้างโรงเรือนหรือได้รับเชื้อเห็ดจากทางบริษัทตามที่ยื่นเสนอเงื่อนไขจริงหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบที่มาที่ไปของการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยว่าเข้าข่ายหลอกลวงชาวบ้านหรือไม่
พร้อมทั้งแจ้งเตือนชาวบ้านและเกษตรกรด้วยว่า หากมีกลุ่มบุคคลใดเข้ามาชักชวนให้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับด้านการเกษตร ให้สอบถามทางเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ หรือเกษตรกรตำบลในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงป้องกันการถูกหลอกลวงสูญเสียเงิน