xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานลุยเปิดเวทีฟังความเห็น “สร้างท่อส่งน้ำมัน” 5.5 หมื่นล้าน-สายอีสานประเดิมโคราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กรมธุรกิจพลังงาน ก.พลังงาน เดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความเห็นโครงการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมัน 5.5 หมื่นล้าน ระยะทางกว่า 1.1 พัน กม. เผยสายอีสาน สระบุรี-นครราชสีมา-ขอนแก่น 336 กม. กว่า 1.6 หมื่นล้าน เปิดเวทีแรกที่โคราช ชี้หากโครงการแล้วเสร็จรัฐสามารถกำหนดนโยบายราคาค่าขนส่งน้ำมันได้ ปชช.ส่วนกลางและภูมิภาคได้ใช้พลังงานราคาใกล้เคียงกัน

วันนี้ (15 ก.ย.) ที่ห้องประชุมอาคารเรียนสาขาวิชาสถาปัตยกรรม ชั้น 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (นครราชสีมา) อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายธีระศักดิ์ จินดา วิศวกรชำนาญการ กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดสร้างท่อขนส่งน้ำมัน สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดสระบุรี-นครราชสีมา-ขอนแก่น) โดยมีประชาชนที่มีส่วนได้เสียในโครงการเดินทางมาร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 400 คน

นายอเนก แก้วกระจ่าง ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวต่อที่ประชุมว่า จากการวางยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน (ปี 2555-2559) ในการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาคและส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งน้ำมันของประเทศ กรมธุรกิจพลังงานจึงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมของการมีระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อโครงการแล้วเสร็จรัฐจะสามารถกำหนดนโยบายราคาค่าขนส่งน้ำมัน ณ คลังน้ำมันศูนย์จ่ายตามแนวท่อในราคาที่ใกล้เคียงกันได้ ซึ่งจะช่วยเหลือประชาชนในส่วนกลางและภูมิภาคได้ใช้พลังงานในราคาใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ การขนส่งน้ำมันทางท่อยังเกิดประโยชน์ในด้านการประหยัดพลังงานในการขนส่ง ช่วยลดค่าซ่อมแซมถนน ช่วยลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับการจัดทำโครงการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดสร้างท่อขนส่งน้ำมันนั้น กรมธุรกิจพลังงานได้จัดจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ใช้งบประมาณในการจัดจ้างประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA-Environmental Impact Assessment) โดย ใช้เวลา 1 ปี

สำหรับรายละเอียดโครงการนั้น สถานที่ตั้งและระยะทางวางท่อขนส่งน้ำมัน ประกอบด้วย 3 สาย ได้แก่ สายภาคตะวันออก (จ.ระยอง-จ.สระบุรี) ระยะทาง 254.45 กม., สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.สระบุรี-จ.ขอนแก่น) ระยะทาง 336.89 กม., สายภาคเหนือ (จ.สระบุรี-จ.ลำปาง) ระยะทาง 514.35 กม. ระยะทางรวมทั้งสิ้น 1,105.69กิโลเมตร (เงินลงทุนกว่า 55,000 ล้านบาท)

โดยขนาดท่อขนส่งน้ำมัน 16-24 นิ้ว วิธีการก่อสร้างมี 3 วิธี คือ วิธีขุดเปิด วิธีเจาะลอด และวิธีเจาะคว้านหรือดันลอด คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี

จากข้อมูลพบว่ามีปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 76 ล้านลิตร/วัน โดยน้ำมันที่ขนส่งตามแนวท่อประกอบด้วย น้ำมันเบนซิน น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว และน้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องยนต์หมุนเร็ว

นายอเนกกล่าวอีกว่า สำหรับสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะวางท่อน้ำมันตามแนวถนนและรถไฟ โดยวางผ่านพื้นที่จังหวัดสระบุรี (จุดเริ่มต้น) ย้อนเข้า ถ.พหลโยธิน(หมายเลข 1) เข้าเลี่ยงเมืองสระบุรี ก่อนถึง ถ.มิตรภาพ (หมายเลข 2) จะตัดกับทางรถไฟ เลือกเข้าเส้นทางรถไฟจนกว่าจะถึงบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวงไทย จำกัด ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งจะเป็นบริเวณเขาหินปูน จึงตัดกลับเข้าถนนมิตรภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงช่องเขาและเหมืองหินปูนบริเวณเส้นทางรถไฟ

จากนั้นตัดเข้าถนนโยธาธิการนครราชสีมา 2068 ที่บริเวณอำเภอมวกเหล็ก เข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา และกลับเข้าทางรถไฟจนถึงบริเวณเขื่อนลำตะคอง และผ่านมาจนถึงตัวเมืองนครราชสีมา เข้าถนนเลี่ยงเมือง (หมายเลข 304) แล้วเข้าเส้นทางรถไฟไปจนถึง จ.ขอนแก่น (จุดสิ้นสุด) รวมระยะทาง 336.89 กิโลเมตร (เงินลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท)

ทั้งนี้ จ.นครราชสีมาจะวางท่อผ่านพื้นที่รวม 8 อำเภอ 36 ตำบล ประกอบด้วย อ.ปากช่อง 5 ตำบล, อ.สีคิ้ว 4 ตำบล, อ.สูงเนิน 6 ตำบล, อ.เมืองนครราชสีมา 9 ตำบล, อ.โนนสูง 5 ตำบล, อ.คง 2 ตำบล, อ.บัวใหญ่ 3 ตำบล และ อ.บัวลา 2 ตำบล โดยจะมีที่ตั้งคลังน้ำมัน 1 จุด เสนอให้เลือกใน 2 พื้นที่ คือ ต.นากลาง อ.สูงเนิน และ ต.จอหอ อ.เมืองนครราชสีมา

ขณะนี้ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในพื้นที่ภาคเหนือไปแล้ว และวันนี้ได้ลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จากนั้นจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ จ.ขอนแก่นต่อไป และจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การออกแบบโครงการ และจะเปิดรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ย. 2557 นี้ ก่อนสรุปความเห็นส่งกรมธุรกิจพลังงานต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น