ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กรมวิทยาศาสตร์บริการผนึกคณะวิทยาศาสตร์ ม.ขอนแก่น ชู “โครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐาน” ดันผู้ผลิตสินค้าชุมชนแปรรูปปลาส้ม นำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ สู่การรับรองมาตรฐานทั้ง อย. มผช. มั่นใจยกระดับความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ เกิดผลดีเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้แก่ชุมชนผู้ผลิตอย่างยั่งยืน ทั้งเล็งขยายความร่วมมือสู่การรับรองมาตรฐานในสินค้าชุมชนประเภทอื่น
วันนี้ (22 ส.ค.) ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 3 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมสรุปผล “โครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐานในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หนองบัวลำภู และชัยภูมิ”
โดยมีนางสาวเสาวณี มุสิแดง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมด้วย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการผลิตปลาส้มร่วมในกิจกรรม
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐาน นำร่องในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หนองบัวลำภู และชัยภูมิ เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มให้มีกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ตามหลักสุขาภิบาลโรงงาน ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน
โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมตามโครงการดังกล่าว 179 ราย สามารถผลักดันผู้ประกอบการยื่นขอรับรองมาตรฐาน อย.ของสาธารณสุขจังหวัด และ มผช. ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ปลาส้มได้รับรองมาตรฐาน อย. 2 ราย และผู้ประกอบการได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนปลาส้ม (มผช.) จำนวน 10 ราย
นางสาวเสาวณี มุสิแดง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์มีนโยบายให้ความสำคัญการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงสู่ชุมชน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเล็งเห็นการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้า OTOP ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการผลิต มีผลิตภัณฑ์น่าเชื่อถือว่าสะอาดปลอดภัย ทำให้เพิ่มมูลค่า รายได้เพิ่ม ขณะเดียวกันผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัยด้วย
โครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐานในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หนองบัวลำภู และชัยภูมิ กรมวิทยาศาสตร์ได้ทำสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษากับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีบุคลากรภาควิชาจุลชีววิทยา เป็นผู้ดำเนินการตามโครงการฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์โครงการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จน่าพอใจคือ สามารถให้การอบรม ส่งเสริมกลุ่มผู้ผลิต ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การรับรองมาตรฐานได้เกินเป้าหมาย
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการมีโครงการที่จะขยายโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ไปสู่กลุ่มผู้ผลิตสินค้าชุมชนประเภทอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปในวงกว้างต่อไปในอนาคต