ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-โคราชผวา เขาใหญ่แผ่นดินยุบ พบโพรงหินปูนขนาดใหญ่เสี่ยงเกิดแผ่นดินทรุด และยุบตัวอื้อ เรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องหารือแนวทางการป้องกันด่วน เผยประสานสำนักธรณีวิทยาลงสำรวจพื้นที่เสี่ยง 12 ตำบล อ.ปากช่อง และ 2 ตำบล อ.วังน้ำเขียว เพื่อให้รู้ข้อมูลแท้จริง ด้าน ผอ.สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน เสนอ 4 มาตรการเพื่อป้องกัน เผยผลสำรวจแม้เสี่ยงไม่สูงแต่บางจุดน่าเป็นห่วง และมีโอกาสเกิดหลุมยุบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียกประชุมด่วนการป้องกันและแก้ไขปัญหาโพรงหินปูนในพื้นที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 ส.ค. โดยมี นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เช่น ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5 นครราชสีมา สำนักงานธรณีวิทยาเขต 2 (ขอนแก่น) ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนทหารจากมณฑลทหารบกที่ 21 (มทบ.21) กองทัพภาคที่ 2
นายชยาวุธ กล่าวว่า สืบเนื่องกรณีที่ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้เปิดเผยผลสำรวจทางธรณีวิทยาบริเวณพื้นที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พบว่า เกิดโพรงหินปูนซึ่งเสี่ยงจะเกิดแผ่นดินทรุด และยุบตัวมากขึ้น หากมีการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้จำนวนมาก รวมทั้งหินปูนดังกล่าวได้ไหลอุดตันการไหลเวียนของแหล่งน้ำใต้ดิน ขัดขวางการอุ้มน้ำไว้ในพื้นที่ภูเขา ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลากได้ ฉะนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาหารือ และเตรียมแผนรองรับเช่นกัน
ทั้งนี้ จากรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสรุปได้ว่า โพรงหินปูนที่มีจำนวนมากในพื้นที่ อ.ปากช่อง 12 ตำบล และ อ.วังน้ำเขียว อีก 2 ตำบล นั้น ยังไม่อยู่ในระดับที่เสี่ยงมากเหมือนบางพื้นที่ของภาคใต้ โดยหลุมยุบที่พบในพื้นที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง นั้นเกิดมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งโพรงหินปูนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังค่อนข้างแข็งแรง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงในบางจุดซึ่งจะต้องหาแนวทางในการป้องกัน
ขณะที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5 นครราชสีมา ระบุว่า บ่อน้ำบาดาลที่เจาะบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง มีความลึกระหว่าง 15-60 เมตร ระดับน้ำบาดาล อยู่ระหว่าง 5-20 เมตร ขึ้นอยู่กับว่าบ่อน้ำบาดาลนั้น เจาะบนที่ลุ่ม หรือเนิน การไหลของน้ำบาดาล พบว่าเส้นระดับน้ำบาดาลในพื้นที่รอบอุทยานฯ มีระดับความสูง 300-380 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีทิศทางการไหลลงสู่ลำห้วยสายต่างๆ ที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งระดับกักเก็บน้ำสูงสุดของอ่างอยู่ที่ 278.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
จะเห็นได้ว่า ระดับน้ำบาดาลอยู่สูงกว่าระดับกักเก็บน้ำของอ่างฯ จึงยังคงมีน้ำบาดาลไหลลงสู่อ่างอย่างต่อเนื่องจึงไม่เป็นสาเหตุที่จะทำให้ลำตะคองแห้ง และพื้นที่ดังกล่าวเป็นหินปูนที่มีความแข็งแรงเก็บน้ำได้ดี เสี่ยงต่อการเกิดการยุบตัวของดินด้านบนได้น้อย
อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เสนอให้หน่วยงานด้านธรณีวิทยาลงมาสำรวจพื้นที่เสี่ยงใน อ.ปากช่อง และวังน้ำเขียว เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง และเพื่อให้ความกระจ่างแก่ประชาชนซึ่งหากมีความเสี่ยงสูงจะได้เตรียมการในการรับมือได้อย่างทันท่วงที
ด้าน ผศ.ดร.ประเทือง เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา ได้พบกับหลุมยุบในพื้นที่ ต.หมูสี และมีน้ำผุดซึ่งเกิดจากการโพรงหินปูนดังกล่าวหลายแห่ง โดยพื้นที่เสี่ยงที่มีโพรงหินปูนอยู่ใน 12 ตำบลของ อ.ปากช่อง ประกอบด้วย ต.ปากช่อง, กลางดง, จันทึก, วังกระทะ, หมูสี, หนองสาหร่าย, ขนงพระ, โป่งดาลอง, คลองม่วง, หนองน้ำแดง, วังไทร และ ต.พญาเย็น ส่วนที่ อ.วังน้ำเขียว มี 2 ตำบล คือ ต.วังน้ำเขียว และ ต.ระเริง
ทั้งนี้ ทางสถาบันฯ ได้เสนอให้ทางจังหวัดหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไข ประกอบด้วย 1.ควรมีการสำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี หรือกรมทรัพยากรน้ำบาดดาล เพื่อให้เห็นลักษณะและโครงสร้างโพรงหินปูนใต้ดินใน อ.ปากช่อง โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ แล้วเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น หรือประชาชนได้รับทราบ
2.หลุบยุบเป็นภัยที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ใน อ.ปากช่อง จึงควรมีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องภูมิประเทศศาสตร์ในโรงเรียน 12 ตำบลของ อ.ปากช่อง และ 2 ตำบลใน อ.วังน้ำเขียว
3.ควรมีการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ศาสตร์ของ อ.ปากช่อง และ อ.วังน้ำเขียว โดยกำหนดให้อยู่ในข้อกำหนดงานของการจัดทำอุทยานธรณี ตามเกณฑ์ของยูเนสโก
และ 4. ควรจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์เผยแพร่ใน อ.ปากช่อง เช่น ภัยจากหลุมยุบสามารถป้องกันได้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้นำเสนอไปทางจังหวัดนครราชสีมาเรียบร้อยแล้ว