พิษณุโลก - อธิบดีกรมป่าไม้ตรวจป่าหลังชุดพยัคฆ์ไพรรวบ 23 แรงงานมอญคาสวนยางกลางป่าวังทอง บอกยังต้อง “ขอคืน” สวนยางพาราอีก 2,500 ไร่ พร้อมเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้” ทั่วประเทศ แถมเล็งซื้อเครื่องบินไร้คนขับตรวจป่า
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้, รอง ผอ.กอ รมน.พิษณุโลก และ กอ รมน.ภาค 3 พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักทัพยากรป่าไม้ 4 พิษณุโลก ได้เดินทางไปที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พล.8 (น้ำยาง) ต.บ้านกลาง อ.พิษณุโลก จากนั้นเข้าตรวจสอบป่า หลังวัดน้ำริน หมู่ 23 บ้านไพรงาม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เย็นวานนี้ (3 ส.ค.)
หลังชุดเฉพาะกิจพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ บุกจับแรงงานชาวมอญ 23 คน ที่รับจ้างกรีดยางพาราในพื้นที่ปลูกนับพันไร่ ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งขาติลุ่มน้ำวังทองฝั่งขาว 150-2-75 ไร่ ตามบันทึกจับกุมทั้ง 4 ชุด
นายธีรภัทรกล่าวว่า ยังมีพื้นที่ข้างๆ แปลงตรวจยึดดังกล่าวที่บุกรุกป่าสงวนหลายพันไร่ ส่วนพื้นที่ตรวจสอบ ดูจากแผนที่มีไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่นั้น พบว่า 1,200 ไร่มี น.ส.3 แต่ยังมีอีกกว่า 2,500 ไร่เป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันในการยับยั้ง และขอพื้นที่ป่าคืนจากนายทุนรายนี้กลับมา
นายธีรภัทรระบุอีกว่า การตรวจสอบพื้นที่บุกรุกป่าครั้งนี้ กรมป่าไม้ร่วมกับทหารกองทัพภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.พิษณุโลก ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64 และ 66 ปัญหาของพิษณุโลกคือ ตัดไม้ไม่ถูกต้อง และรุกผืนป่าในพื้นที่ป่าสงวนลุ่มน้ำวังทองฝั่งขวาก็จะมีการเจรจากับกรมที่ดิน และ ส.ป.ก.จะต้องหาแนวทางร่วมกัน และกรมป่าไม้จะแก้ไขร่วมกันทั้งระบบ
“พิษณุโลกมีป่าถูกบุกรุก 4 อำเภอ คือ อ.วังทอง อ.วัดโบสถ์ อ.นครไทย และ อ.ชาติตระการ ซึ่งมากที่สุดคือ อ.วังทอง และ อ.นครไทย มาตรการต่อไปจะต้องเน้นย้ำให้มีการลาดตระเวนพื้นที่ป่า โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำการตรวจสอบ ทั้งการเดิน และการถ่ายภาพทางอากาศ ดูการเปลี่ยนแปลงของสภาพป่าทั้งอดีตและปัจจุบัน”
นายธีรภัทรเปิดเผยอีกว่า แนวทางแก้ไขที่ดินตอนนี้ได้ประชุมกับกองทัพภาคที่ 3 และ กอ.รมน.พิษณุโลก จะสำรวจข้อมูลภาพถ่าย ปี 45 เทียบกับภาพถ่ายทางอากาศปี 56/57 เพื่อรักษาป่า และหยุดการบุกรุก
ในการทำงานจะดูว่าพื้นใดมีการบุกรุกก็จะบังคับคดีอย่างเข้มงวด แต่ไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ตามนโยบาย คสช. แต่จะลงไปดูที่ดินที่มีซื้อขายเปลี่ยนมือเป็นอันดับแรก หากตรวจพบว่าบุกรุกใหม่จะจับทันที ส่วนพื้นที่บุกรุกเดิม ถ้ามีเอกสารสิทธิมาแสดงจะต้องประสาน ส.ป.ก. หรือกรมที่ดินมาพิจารณา ถ้าอยู่ในเขตป่าก็จะดำเนินการ
ส่วนเรื่องประชาชนอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติจะต้องจัดระเบียบหมู่บ้านใหม่ พัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้ประชาชนที่อยู่รอบป่ามีชีวิตที่ดี จะได้ไม่ไปบุกรุกป่า ซึ่งกรมฯ จะทำงานร่วมกับจังหวัดต่อไป
แต่ที่เร่งด่วนหลังจากนี้ก็คือ กรมป่าไม้จะจัดตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้” ทั่วประเทศ แต่ละจังหวัดที่มีปัญหาจะมีศูนย์ฯ-มีคณะกรรมการระดับพื้นที่เพื่อตรวจการใช้ที่ดินของกรมป่าไม้
ด้านการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพนั้น จะต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนหน่วยพิทักษ์ป่ามากขึ้น ซึ่งเฉพาะพิษณุโลกจะเพิ่มทั้ง 5 หน่วย และจังหวัดใกล้เคียงอีก 10 หน่วย และวันที่ 5 ส.ค.นี้กรมป่าไม้จะร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า เพื่อลงนามข้อตกลงในการนำภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่ป่าทั่วประเทศมาใช้ในจังหวัดพิษณุโลกเป็นพื้นที่นำร่อง พร้อมกับจะนำเครื่องบินอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV มาบินตรวจป่าในจุดเสี่ยง