เชียงราย - สารพัดองค์กรยังคงเร่งหาทุนช่วยเหยื่อแผ่นดินไหวเชียงราย หลังผ่านเหตุร้ายมากว่า 3 เดือน แต่การช่วยเหลือยังไม่ทั่วถึง
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท แบรนด์ยัง จำกัด เปิดงาน “รักและดูแลเชียงราย Chiangrai we care you” ที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เชียงราย โดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินชื่อดังผู้สร้างวัดร่องขุ่น จ.เชียงราย นายสุรพงศ์ นิลพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. จังหวัดทหารบกเชียงราย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์เชียงราย นายพิเชียน จอมพงษ์ ผอ.ธ.ก.ส.เชียงราย เข้าร่วม
เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ฝากเงินใช้รูปแบบการซื้อสลากออมทรัพย์ทวีสิน เพื่อนำเงินฝาก 1 บาทต่อ 1 หน่วย หรือทุก 500 บาท เข้าสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวใน จ.เชียงราย ซึ่งเกิดขึ้นรุนแรงล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงการจำหน่ายเสื้อ Hug และรับบริจาคเพื่อนำไปสมทบทุนโดยตรง
นายสุรพงศ์ กล่าวว่า ธ.ก.ส.ตั้งเป้าระดมทุนผ่านสลากออมทรัพย์ทวีสิน 2557 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเชียงรายเอาไว้ที่ 60 ล้านบาท โดยจะนำไปมอบให้ประชาชนสร้างบ้านที่เสียหายทั้งหลังตามมูลค่าการสร้างจริง แต่ไม่เกินรายละ 350,000 บาท 22 ราย เป็นเงิน 7,700,000 บาท และเสียหายบางส่วน 2,356 ราย ขั้นต่ำรายละ 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท รวม 14,650,000 บาท ส่วนที่เหลือจะนำไปช่วยเหลือศาสนสถาน ผ่านกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว จ.เชียงราย (กชร.)
ด้านอาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่ผ่านมาสร้างความเสียหายมาก และแม้จะผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว แต่การช่วยเหลือของภาครัฐ และเอกชนที่หลั่งไหลเข้ามาก็ยังไม่เพียงพอ เพราะประเทศเราเป็นประเทศยากจน การช่วยเหลือก็ใช้งบประมาณน้อยนิด และล่าช้าตามระเบียบวิธีการ
“อย่างวัดร่องขุ่นที่เสียหายมาก แต่ทางวัดมีงบประมาณจึงซ่อมแซมได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่อื่นต้องระดมทุนด้วยผ้าป่า และอื่นๆ ดังนั้น ทางพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี และผมจึงได้จัดตั้ง กชร.ขึ้นเพื่อนำไปบูรณะซ่อมแซมศาสนสถาน รวมทั้งร่วมกับ อบจ.เชียงราย ตั้งเป้าจะสร้างบ้านให้แก่ผู้ประสบภัย 50 หลังด้วย”
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีข้อคิดมาก เพราะทำให้ทราบว่า โครงสร้างอาคารต่างๆ ที่ช่างท้องถิ่นสร้างนั้นไม่อาจต้านทานแรงแผ่นดินไหวรุนแรงได้ หรือบางครั้งประชาชนมีเงินทุนน้อย ก็สร้างกันด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่มั่นคงแข็งแรง แม้แต่วัดร่องขุ่นที่สร้างให้ฐานมั่นคงแข็งแรง เพราะเล็งเห็นถึงภัยนี้อยู่แล้วก็ยังเสียหาย ทำให้เป็นข้อคิดที่จะได้มีการปรับปรุงกันต่อไป ขณะที่วัดหลายแห่งพบว่า ส่วนใหญ่องค์พระประธานในอุโบสถที่สร้างในช่วง 80-100 ปี มักจะเสียหายในลักษณะเศียรหัก เพราะช่างท้องถิ่นในอดีตไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ และใช้ไม้ขนุนค้ำยันภายในแล้วก่อรอบด้วยคอนกรีต เมื่อเกิดการการสั่นไหวรุนแรงจึงหักลงมา
“ต่อไปจึงต้องมีการปรับปรุงการก่อสร้าง เพราะเชื่อว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้แล้ว ย่อมจะต้องมีครั้งต่อๆ ไปอีกแน่นอน”